SCB กำไรไตรมาส 2 ร่วง 6.7%

SCB เผยไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.7% เหตุรายได้ค่าธรรมเนียม-รับประกันภัยลดลง 6.2% ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 10.7%

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 11,111.20 ล้านบาท ลดลง 799.74 ล้านบาท หรือลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,910.94 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนปีนี้ กำไรสุทธิอยู่ที่ 22,475.65 ล้านบาท ลดลง 1,347.2 ล้านบาท หรือลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 23,822.85 ล้านบาท

SCB ระบุว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 พบว่าธุรกิจหลักของธนาคารยังเติบโตได้ดี โดยสินเชื่อมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นจำนวน 23,849 ล้านบาท

ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,494 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย

ขณะที่การลงทุนในโครงการ SCB Transformation ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของธนาคารเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคาร และค่าใช้จ่ายในการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลง

สำหรับอัตราส่วน NPL ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2561 อยู่ที่ 2.81% ลดลงจาก 2.83% ณ สิ้นเดือนธ.ค.2560 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,007 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับเพิ่มขึ้นเป็น 143.5% นอกจากนี้ เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2561 อยู่ที่ 17.1% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

SCB ยังระบุว่า ภายใต้โครงการ SCB Transformation ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าบนดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ผ่านแพลตฟอร์มบนมือถือ “SCB EASY” ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 ล้านคน และคาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ใช้บริการ SCB EASY เพิ่มเป็น 9-10 ล้านราย และมีจำนวนร้านค้าที่ใช้บริการชำระสินค้าและบริการผ่านระบบแม่มณี (QR Merchant) เพิ่มเป็น 1.2-1.5 ล้านร้านค้า

นอกจากนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการบนระบบดิจิทัลและความผูกพันกับลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้อย่างมีนัยยสำคัญ และปรับลดจำนวนสาขารูปแบบเดิมได้ประมาณ 100 สาขาในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการในภาพรวมและความพึงพอใจของลูกค้า ทั้งนี้ ธนาคารยังได้เสนอช่องทางการให้บริการรูปแบบใหม่ เช่น ศูนย์บริหารความมั่งคั่ง และศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

****************
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com