HoonSmart.com>> “KKP Research” ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงจาก 3.5% เหลือ 2% ผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ล็อกดาวน์เมืองบางส่วน พร้อมหั่นคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 6.4 ล้านคนเหลือ 2 ล้านคน กรณีเลวร้ายปีนี้ไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้คาดกด GDP หดตัว -1.2%
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า KKP ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 ลงอีกครั้งจาก 3.5% เป็น 2.0% จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศที่นำไปสู่การปิดเมืองบางส่วน อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้มาตรการปิดเมืองต้องมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ GDP อาจหดตัวได้ถึง -1.2%
“การระบาดรอบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ (1) การประกาศปิดเมืองจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม” KKP Research ระบุ
พร้อมกันนี้ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 ปรับลดลงจาก 6.4 เป็น 2 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายคาดว่าจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยทั้งปี
ด้านการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้โดยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ตามเศรษฐกิจโลก นอกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังหนุนให้การส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ในปีนี้
ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกไทยยังฟื้นตัวช้ากว่า หลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยมีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้น้อย นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าที่เกิดต่อเนื่องมาจากปีก่อน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกไทยในปี 2564 ขยายตัวได้น้อยลงกว่าที่เคยประเมิน ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในภาคการผลิตในประเทศที่สามารถกลับมากระทบการส่งออกเพิ่มเติมได้เช่นกัน
สัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาจ้างงานอีกครั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และฟื้นตัวได้ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ในขณะที่การจ้างงานในภาคบริการที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก
นอกจากนี้ ถึงแม้ตัวเลขทางการของการจ้างงานจะไม่ได้หดตัวรุนแรงมากนัก และอัตราการว่างงานในเดือนล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.0% แต่มีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยผู้ที่เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และในจำนวนนี้ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (อยู่ที่ 4.2 แสนคนในเดือน พ.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 23% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) อีกทั้งแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระที่ยังคงทำงาน แต่รายรับน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาคแรงงานจะรุนแรงกว่าตัวเลขการเลิกจ้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
การระบาดระลอกสองและการปิดเมืองจะซ้ำเติมให้การจ้างงานในภาพรวมกลับมาแย่ลงและอาจรุนแรงกว่ารอบก่อน จึงประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจหลายแห่งอาจจำเป็นที่ต้องขยับจากการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานไปเป็นการเลิกจ้างถาวร เนื่องจากแบกรับต้นทุนต่อไปไม่ไหวหลังจากที่อั้นมาตลอดปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา กลับถูกซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในวงกว้างได้
KKP Research มองว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงไปอีกครั้งเช่นนี้ สร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาวะความเป็นอยู่ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากวิกฤตโควิดระลอกที่แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงาน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจนกว่าการแพร่ระบาดและเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ ถึงแม้บางโครงการ เช่น ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จะค่อนข้างประสบความสำเร็จและลงสู่ประชาชนและธุรกิจได้จริง แต่ก็ยังนับเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย
หากเปรียบเทียบขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังกับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้นแสดงถึงความล่าช้าในการผลักดันมาตรการและโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าภาครัฐควรต้องผลักดันนโยบาย ทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้นเพื่อเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจและแรงงาน และนโยบายการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวที่จะเป็นการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP ไม่ควรเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤตที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้ หากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในด้านนโยบายการเงิน KKP Research มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคการคลัง และเพื่อเป็นการตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ปัจจุบันที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสะดุดลงจากการระบาดระลอกสอง โดยทั่วไปนโยบายการเงินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง การตอบสนองที่ช้าจะเปิดความเสี่ยงให้เกิดการหดตัวขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจ ผู้ทำนโยบายสามารถเร่งผ่อนคลายทางนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบใหม่ (unconventional policy) อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สภาพคล่องในระบบไหลไปสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้น และอาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่งด้วย ควบคู่ไปกับการเร่งปลดล็อคเงื่อนไขของมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้จริงและเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา