HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์คาดปี 64 IPO ฮอตไม่แพ้ปีก่อนที่มีมาร์เก็ตแคปมากถึง 5.5 แสนล้านบาท ติดอันดับ 8 ของโลก วอลุ่มตลาดสตาร์ทติด สูงเกิน 1 แสนล้านบาท/วัน หารือก.ล.ต.ออกเกณฑ์ รับมือความผันผวนในตลาด พุ่งเป้าบริษัทฟรีโฟลทต่ำ เปิดกลยุทธ์ปี 64-66 เดินหน้าบูรณาการนวัตกรรม พัฒนามุ่งสู่ความยั่งยืน เพิ่มโอกาสลงทุนให้กับคนไทย ธุรกิจเข้าถึงตลาดทุนง่ายและมากขึ้น สร้างความแข็งแกร่งของประเทศ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นำคณะผู้บริหารแถลงผลการดำเนินงานในปี 2563 และแผนกลยุทธ์ของปี 2564-2566 ว่า ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตลาดทุนไทยสามารถปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะการระดมทุน ทั้งตลาดแรกและการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) เห็นได้จากหุ้นที่เสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) มีมาร์เก็ตแคปถึง 5.5 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก นับเป็นปีแรกที่ตลาดทุนไทยติดอันดับท็อปเท็นของโลก ส่วนในปี 2564 คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2562-2563 เนื่องจากมีบริษัทให้ความสนใจเข้ามาระดมทุนค่อนข้างมาก
ส่วนแนวโน้มในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีบริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S-Curve) เช่น ไบโอเทค ยานยนต์ยุคใหม่ เป็นต้น จะมีเกณฑ์สนับสนุน เพราะบริษัทมีแนวโน้มเติบโต แต่ยังไม่สามารถทำกำไรได้ตามเกณฑ์ รวมถึงการเปิดให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน จะเริ่มจากกลุ่มบริษัทในประเทศ CLMV จากในปีที่ผ่านมาเลื่อนการเข้าจดทะเบียน เพราะผลจากโควิดเดินทางลำบากและเกณฑ์ที่แตกต่างกันจะต้องใช้เวลาปรับปรุงข้อมูล
ขณะเดียวกันสภาพคล่องในการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยก็สูงที่สุดในอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ตลาดเคยตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายไว้วันละ 1 แสนล้านบาท ก็ได้เห็นแล้วในปีที่ผ่านมา ถึง 22 วัน รวมทั้งปีเฉลี่ย 6.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน แนวโน้มยังคงดีต่อเนื่องในปีนี้
นายภากรกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจ แม้ว่าจะเกิดโควิด-19 แพร่ระบาด แต่การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ติดขัด มีการให้บริการและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงภาวะตลาดผันผวน โดยเฉพาะในเดือนมี.ค.- เมย. จนต้องออกมาตรการมาดูแลการซื้อขาย สามารถทำให้ตลาดกลับมาได้รวดเร็ว เพราะการออกมาตรการไม่ได้ทำตามความเชื่อ แต่มีการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน ภาวะตลาดในปีก่อรสะท้อนถึงความคงทนรับแรงกดดันจากสิ่งที่เข้ามาได้มาก
อย่างไรก็ตามตลาดยังคงต้องพัฒนา และปรับตัวให้ทันกับปัจจัยต่างๆที่จะเข้ามา นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ภาวะตลาดและมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้น สิ่งที่ตลาดจะให้ความสำคัญ คือ ทำอย่างไรสามารถรองรับกับสภาวะเหล่านี้ได้ หรือไม่ให้ตลาดเกิดความผันผวนมากนัก
ปัจจุบันยอมรับว่าตลาดอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงมาตรการกำกับดูแล รวมถึงศึกษาหาข้อสรุปเกี่ยวกับการดูแลหุ้นที่มีสภาพคล่อง(ฟรีโฟลท) ต่ำ หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว
“เราต้องศึกษาว่าฟรีโฟลทมีผลต่อการซื้อขายอย่างไร เป็นสภาพคล่องจริง หรือ เป็นไปตามคำนิยาม เพื่อที่จะได้ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีเกณฑ์การกำกับดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกำหนดให้มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อยอย่างน้อย 15% ของทุนเรียกชำระแล้ว หากเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าไม่ต่ำ ต่างประเทศอยู่ที่ 10-15% มีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุน เพื่อกระตุ้นให้บจ.เพิ่มฟรีโฟลทให้ได้ตามเกณฑ์ ส่วนการกำกับการซื้อขายก็มีเกณฑ์ เราดูแลทุกบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ เราต้องคำนึงเพิ่มขึ้น จะทำอะไรได้อีก เพื่อทำให้ตลาดไม่ผันผวนได้อย่างไร ขอหารือก.ล.ต.ก่อน “นายภากร กล่าว
สำหรับการพัฒนาตลาดทุนในระยะกลาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับตัวสู่วิถีธุรกิจใหม่ (Next Normal) ตอบสนองความท้าทายในโลกปัจจุบันที่อยู่บนวิถี ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ดังนั้น กรอบการพัฒนาในอีก 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) บูรณาการด้านนวัตกรรม สร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนมุ่งสู่ความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างการเติบโต 2. ขยายโครงสร้างพื้นฐาน 3.ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมและ4.เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและศักยภาพบุคลากร เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม ทำให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย นอกจากมีพันธมิตรในตลาดแล้ว จะต้องเพิ่มพันธมิตรนอกตลาดด้วย
ทั้งนี้กรอบการพัฒนา เพื่อสร้างการเติบโต ตลาดให้ความสำคัญกับการขยายฐานผู้ลงทุนอยู่แล้ว จะนำดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเปิดบัญชี ทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น น่าจะเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนมากขึ้น ส่วนการเพิ่มผลิตภัณฑ์ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะหุ้น มีทั้งตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ประกันชีวิตควบการลงทุน ตลาดจะมีกลยุทธ์เพิ่มเติม จัดโปร ลดค่าธรรมเนียม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาตราสารต่างๆรวมถึงอ้างอิงต่างประเทศ ตลาดจะสนับสนุนให้ผู้ออกได้รวดเร็ว หาสินค้ามาเติมเต็ม จึงเป็นโอกาสลงทุนของประเทศไทย ของคนไทย โดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ทันเวลา การใช้ข้อมูลดิบในการวิเคราะห์เป็นสิ่งสำคัญสามารถบริหารความเสี่ยงได้เหมาะสมยิ่งขึ้น