KTC แรง! สารพัดเหตุผลหนุน ปั้นมูลค่ากรุงไทยเฉียด 1 แสนล.

HoonSmart.com>>”บัตรกรุงไทย”ราคานิวไฮ ปิดที่ 76 บาท นักวิเคราะห์เตือนให้ระวัง บล.กสิกรไทยคาดแรงซื้อจากต่างชาติ ไม่อั้นไม่ติดเพดาน แนะให้”ขาย”โยกเข้า AEONTS แทน บล.โนมูระฯคาดวิ่งตามกลุ่มไฟแนนซ์ บล.เคทีบีให้แค่ “ถือ” สูงเกินเป้าหมาย 60 บาทที่ให้ไว้แล้ว มูลค่ากิจการ KTC เพิ่มพรวดเป็น 195,953 ล้านบาท แบ่งให้ธนาคารกรุงไทยเฉียด 1 แสนล้านบาท  2 นักลงทุนรายใหญ่ “มงคล ประกิตชัยวัฒนา” – “สถาพร งามเรืองพงศ์” อู้ฟู่

วันที่ 7 ม.ค. หุ้นการเงินวิ่งแรงเป็นพระเอก นำโดยบริษัท บัตรกรุงไทย( KTC) ราคาปิดที่ 76 บาท พุ่งขึ้น 975 บาทหรือ 14.72% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 4,418 ล้านบาท

ราคานิวไฮในรอบ 1 ปี หนุนมาร์เก็ตแคปสูงถึง 195,953 ล้านบาท สร้างความร่ำรวยยิ่งขึ้นให้กับ บริษัทแม่ อย่างธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง จำนวน 49.29%  คิดเป็นมูลค่าประมาณ  96,588 ล้านบาท ตามด้วย นาย มงคล ประกิตชัยวัฒนา ถือ 15.07% มูลค่า 29,539 ล้านบาท และนาย สถาพร งามเรืองพงศ์ ถือ 4.98% มูลค่า 9,767 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่าราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานแล้ว นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และยังคงหาเหตุผลที่ชัดเจนไม่ได้ว่าราคาวิ่งมานานและไกลขนาดนี้มาจากต้นเหตุใด

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล. กสิกรไทย เปิดเผยว่า ราคาหุ้น KTC ขึ้นมาเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน มาจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าที่สนใจซื้อหุ้นบัตรเครดิต ซึ่งในตลาดหุ้นไทยมี 2 บริษัท ได้แก่ KTC และ AEONTS  ทั้ง 2 บริษัทกำหนดเพดานการถือครองของผู้ถือหุ้นต่างประเทศอยู่ที่  49% แต่ AEONTS มีผู้ถือหุ้นต่างประเทศประมาณ 44% (ไม่นับรวมกองทุนอื่นๆ) ทำให้ไม่สามารถซื้อหุ้นได้มาก ส่งผลให้หุ้น KTC ตกเป็นเป้าหมายของต่างชาติ  ราคาหุ้นปรับขึ้นแรง โดยไม่มีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อบริษัทฯ

ทั้งนี้ บล.กสิกรไทยปรับคำแนะนำเป็น”ขาย” และซื้อหุ้น AEONTS แทน โดยทั้ง 2 บริษัทมีการเติบโตของรายได้ที่ใกล้เคียงกัน แต่ราคาหุ้น AEONTS น่าสนใจมากกว่า

ด้านนายคณฆัส จิรเสรีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-วิเคราะห์เทคนิค บล. โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า หุ้น KTC ปรับตัวขึ้นตามกลุ่มไฟแนนซ์ ทั้ง SAWAD และMTC คาดว่ามาจากการเก็งกำไรผลประกอบการปี 2563 ไม่เกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจากตลาดทุนกล่าวว่า KTC ปรับขึ้นแรง น่าจะมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ตอนนี้ และมีผลต่อพัฒนาการที่สำคัญของบริษัท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะ”ถือ”หุ้น KTC แม้ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท จากเดิม 43 บาท หลังปรับกำไรปี 2564 เพิ่มขึ้น 6%เป็น 5.96 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2563 จากการปรับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเป็น 6%  จากเดิม 4%  เพื่อสะท้อนการใช้จ่ายผ่านบัตรที่กลับมาดีขึ้น และปรับลดต้นทุนลงเป็น 39%  จากเดิม 44% เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง รวมทั้ง synergy ระหว่างธนาคารกรุงไทยและ KTC

ส่วนไตรมาส 4/2563 คาดมีกำไร 1,310 ล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสที่ 3 จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และสำรองลดลง, แต่รายได้หนี้สูญเพิ่มขึ้น

ในช่วง 3 และ 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น KTC เพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดถึง 61% และ 107% สะท้อนแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นแล้ว และปัจจุบันเทรดที่ระดับสูงถึง P/BV ปีนี้ สูงกว่าช่วงปี 2562  ขณะที่ธุรกิจใหม่ “สินเชื่อพี่เบิ้ม” ยังต้องใช้ระยะเวลาในการขยายตัว