HoonSmart.com>> บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองโควิดกระทบหุ้นระยะสั้น วางเป้า SET ปี 64 ที่ 1,650 จุด คาดกำไรบจ.โต 37% สภาพคล่องล้นหนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้า แนะจังหวะหุ้นอ่อนตัวเข้าสะสมหุ้นดี ลงทุนยาว เปิดโผ 30 หุ้นเด่นปี 64 เก็บเข้าพอร์ต พร้อม 4 ธีมลงทุนเดือนม.ค.แนะนำ AP-KBANK-HMPRO-SCGP-PTT
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินระยะสั้นโควิดระลอกใหม่กดดัน SET Index มีสิทธิแกว่งและหรืออ่อนลง จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นมากเป็นเลขสามหลักต่อเนื่องในช่วง Lockdown ปี 2564 และสูงขึ้นจาก Lockdown ปีก่อน เป็นปัจจัยลบต่อ Sentiment การลงทุนในระยะสั้น ประกอบกับนักลงทุนสถาบันมีการปรับพอร์ตตาม MSCI Index, FTSE Index และ SET50, SET100 รอบใหม่ที่จะเริ่มมีผล 1 ม.ค.2564 ไปแล้ว ความหวังที่จะมี January effect ก็ลดน้อยถอยลง อย่างไรก็ตามการอ่อนตัวเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว คาดการณ์เป้าหมายดัชนีปี 2564 อยู่ที่ 1,650 จุด
ฝ่ายวิจัยฯ DBS มองว่าในปี 2564 มีหลายปัจจัยที่เป็นความหวังทางบวก ได้แก่ 1) จะมีการใช้ฉีดวัคซีนในวงกว้างขึ้นและผู้ผลิตวัคซีนยืนยันว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาสามารถรองรับโควิดกลายพันธุ์ได้ เพราะโครงสร้างหลักของไวรัสไม่เปลี่ยนแปลง
2) อัตราดอกเบี้ยยังต่ำสุดป็นประวัติการณ์และอีกยาวนาน 3) ประเทศต่างๆ ยังออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการ QE ต่อในปี 2564 ส่วนของไทยคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวออกมาอีกชุดในปีนี้ และอาจขยายโครงการลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอน & จดจำนอง 0.01% อสังหาริมทรัพย์ (ของเดิมหมดอายุสิ้นปี 2563)
4) ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนผ่อนคลายลง หลังไบเดนมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ 5) กำไรตลาดหุ้นไทยพลิกฟื้นเป็นเติบโตในปี 2564 และ 6) มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะสะสมหุ้นไทยรอบใหม่จากสภาพคล่องการเงินที่สูง ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องมาก 4 ปีแล้ว (ปี 60-63) รวมแล้วเป็นจำนวน 6.22 แสนล้านบาทและยอดสะสมย้อนหลัง 10 ปีเป็นขายสุทธิ 8.57 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตลาดจะยังไม่ทิ้งความผันผวนในปี 2564 ในระหว่างปียังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง ทำให้ตลาดมีโอกาสอ่อนตัว/พักฐานเป็นระยะ ซึ่งความเสี่ยงหลักๆ ประกอบด้วย 1) การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด ยังผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้น อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2564 อาจจะต่ำกว่า 3% กว่าๆ ที่คาดการณ์กันในปัจจุบัน
2) ปัญหาการเมืองในสหรัฐ ที่ทรัมป์ยังไม่ยอมแพ้เลือกตั้งโดยดุษฎี 3) ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ เมื่อพ้นแรงกดดันโควิด-19 และ 4) การปรับโครงสร้างภาษีภาคธุรกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไบเดน
ฝ่ายวิจัยฯ DBS ประเมินกำไรตลาดหุ้นไทยปี 2564 พลิกเป็นเติบโต แต่ยังคิดเป็นแค่ 75% ของกำไรปี 2562 โดยคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยจะดิ่งลง -45% เป็น 5.2 แสนล้านบาท
ส่วนในปี 2564 จะกลับเป็นเติบโต 37% สู่ระดับ 7.15 แสนล้านบาท โดยหลักมาจากกลุ่มพลังงาน, ปิโตรเคมี ที่ได้อานิสงค์จากราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว กลุ่มอาหาร ค้าปลีก โรงพยาบาล บรรจุภัณฑ์ ขนส่งทางราง & ทางด่วน อสังหาริมทรัพย์ เติบโตได้ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กลุ่มอิเลคทรอนิกส์ขยายตัวตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีเป็นพระเอก แต่กลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน สนามบิน ยังฟื้นตัวช้า แต่คาดว่ากำไรของกลุ่มเหล่านี้จะพุ่งแรงในปี 2565 เมื่อมีการใช้วัคซีนแพร่หลายและการเดินทางระหว่างประเทศกลับไปเป็นปกติ
ฝ่ายวิจัยฯ DBS ประเมิน EPS ตลาดหุ้นไทยปี 2564 ไว้ที่ 67.7 เติบโต +37% และให้เป้าหมายดัชนีไว้เท่ากับ 1650 จุด เทียบเท่ากับ P/BV ที่ 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี) และมี P/E ที่ 24 เท่า (PEG ปี 64 ที่ 0.65 เท่า) ซึ่งมี Upside 14% จากระดับปิดสิ้นปี 2563
ทั้งนี้ SET Index ปี 2561-2562 (ก่อนมีโควิด-19) ระดับของ P/BV สิ้นปีอยู่ที่ 1.8 เท่า ส่วนสิ้นปี 63 Current P/BV ลดลงมาเป็น 1.6 เท่า (ณ SET Index 1449 จุด) เนื่องจาก Market Cap ของตลาดร่วงลงมากกว่าการลดลงของ Book Value ตลาด ซึ่งหากพิจารณาในมุมของ P/BV เห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้แพง ส่วน P/E สูงเพราะโครงสร้างกำไรของตลาดหุ้นไทยกระจายตัวไม่ดีนัก โดยอิงกับกลุ่มพลังงาน ธนาคาร สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์มากถึง 62% ของกำไรทั้งตลาด
สำหรับน้ำหนักการลงทุนรายอุตสาหกรรม ให้น้ำหนักลงทุนเป็น Overweight ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์, อาหาร, โรงพยาบาล และบรรจุภัณฑ์
ส่วนกลุ่มที่ให้น้ำหนักเป็น Underweight คือ อิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากราคาหุ้นแพง, รับเหมาก่อสร้าง, Property Fund & REIT
ส่วนกลุ่มที่ให้น้ำหนัก Neutral คือ พลังงาน, ปิโตรเคมี, ค้าปลีก, วัสดุก่อสร้าง, สื่อสาร, ไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม, ขนส่ง และอื่นๆ
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกสะสมหุ้นดีจังหวะราคาอ่อนตัว – สำหรับเดือนม.ค.64 แนะนำ
1. ธีมธุรกิจไปได้ดีในระยะยาว มี Valuation จูงใจและจ่ายปันผลได้ หุ้นเด่น คือ AP, KBANK
2. ธีมธุรกิจฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขึ้น ได้ประโยชน์จากการซ่อมแซม ต่อเติมสิ่งปลูกสร้าง หุ้นเด่น คือ HMPRO
3. ธีมธุรกิจเติบโตได้ดีใน New Normal หุ้นเด่น SCGP
4. ธีมธุรกิจได้ประโยชน์จากอุปสงค์และราคาน้ำมันฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก หุ้นเด่น PTT