แน่งน้อย ชัยรัตนมโนกร
บรรณาธิการบริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มองเห็นโอกาสจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือโอกาสปรับปรุงกฎเกณฑ์ กติกา ให้สอดรับกับตลาดทุนไทยและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกใบใหม่ ถือโอกาสนัดคุยกับบิ๊กบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้นปี 2564 เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน หลังจากผ่อนเกณฑ์ซื้อหุ้นคืนได้สำเร็จ…
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่สำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จะเชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงาน ขณะเดียวกันก.ล.ต.จะมีการนำเสนอพัฒนาการต่างๆในต่างประเทศ มาร่วมกันปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสอดรับกับมาตรฐานสากล
“เราเพิ่งจัดขึ้นครั้งแรก อาจจะพบผู้บริหารของบริษัทใน SET 50 หรือ SET 100 ก่อน ซึ่งตามแผนคาดว่าจะพบกันประมาณเดือนม.ค.นี้ เราอยากรู้ว่ามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงการทำงาน จะต้องลดภาระที่เกินควรในสิ่งใดบ้าง หรือมีเกณฑ์ใดที่จะต้องแก้ไข เช่น เรื่องฟรีโฟลท หรือสภาพคล่องของหุ้นจะนับกันอย่างไร เพราะปัจจุบันบริษัทที่มีฟรีโฟลท อาจจะไม่จริง”
ส่วนเรื่องเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนของบจ.ที่เป็นอุปสรรคและไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สำนักงานได้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยและได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถบริหารทางการเงินด้วยวิธีการซื้อหุ้นคืนได้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมทั้งการรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงควรปรับปรุง เช่น ลดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ จากเดิมต้องรอให้ครบ 1 ปีก่อน ก็ลดลงเหลือเพียง 6 เดือน และกำหนดให้ยกเว้นระยะเวลาในกรณีที่มีการซื้อหุ้นคืนในช่วง 6 เดือนนับแต่วันที่กฎกระทรวง (ใหม่) ใช้บังคับด้วย
ส่วนการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ก็เพิ่มวิธีการ จากเดิมที่ต้องขายผ่านกระดานหลักในตลาดหลักทรัพย์หรือจำหน่ายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเท่านั้น ต่อไปสามารถจำหน่ายแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วน (RO) หรือจำหน่ายกรรมการหรือพนักงาน (ESOP) ได้
นอกจากนี้การขายออก ไม่ต้องรอนานถึง 6 เดือนนับแต่มีการซื้อหุ้นคืน เพียง 3 เดือน (ในกรณีทั่วไป) หรือ 1 เดือน (ในกรณีเป็นการขายต่อกรรมการหรือพนักงาน) ก็สามารถขายได้แล้ว
ทั้งนี้ในปี 2563 ตลาดหุ้นเผชิญวิกฤตจากการล็อกดาวน์ประเทศไทยและหลายประเทศ ทำให้มีบริษัทมากถึง 41 บริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 75,811 ล้านบาท แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศยกเลิกโครงการที่จะใช้เงินสูงถึง 16,000 ล้านบาท ในการซื้อคืนจำนวน 135.96 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าการซื้อหุ้นคืนรวมเหลือจำนวน 59,811 ล้านบาท
ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมาก มีความพร้อมเป็นอย่างมากในการเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน(อีกครั้ง) แม้ว่าเพิ่งจะซื้อหุ้นในปี 2563 ก็ตาม เพราะราคาหุ้นลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป(TU) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 เพิ่งครบกำหนดซื้อหุ้นคืน โดยซื้อได้จำนวน 116.68 ล้านหุ้น หรือ 2.45% ของทุนชำระแล้ว คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,517.73 ล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย 13 บาท ล่าสุดวันที่ 30 ธ.ค. ราคาปิดที่ 13.60 บาท
เชื่อว่าการผ่อนปรนเกณฑ์การซื้อหุ้นคืนจะเป็นประโยชน์มากต่อทั้งบริษัทจดทะเบียน นักลงทุนและตลาดทุนไทย
ส่วนการปรับปรุงเกณฑ์สำคัญอีกหลายประเด็นที่จะเกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันครั้งแรกของ 2 หน่วยงานกับบิ๊กบจ. ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จะต้องลุ้นว่า”หวย”จะตกอยู่ตรงไหน บริษัทใดจะได้รับผลกระทบบ้าง เฉพาะเพียงเกณฑ์”ฟรีโฟลท” ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการได้รับเลือกให้เข้าคำนวณ SET 50 หรือ SET 100 หากมีการแก้ไขให้ชัดเจน อาจจะทำให้บริษัทหลายแห่งสอบตก หรือไต่อันดับขึ้นจอเรดาร์ของนักลงทุนสถาบันไทย-ต่างประเทศยากขึ้นก็เป็นไปได้