ก.ล.ต.ประสานบจ.-ผู้ลงทุนสถาบันร่วมใช้ธรรมาภิบาลหนุนโตยั่งยืน

ก.ล.ต.จัดสัมมนาสร้างคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันในการร่วมกันใช้หลักธรรมาภิบาล หวังบจ.เติบโตยั่งยืน เพิ่มมูลค่าที่ดีในการลงทุนระยะยาว รองรับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์และนวัตกรรมเปลี่ยนรวดเร็วได้อย่างเหมาะสม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาในหัวข้อการสร้างคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและบทบาทของผู้ลงทุนสถาบันในการร่วมใช้ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2561 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท โดยมีบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียน (บจ.) สถาบันการเงิน และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 250 คน

ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มากขึ้น ส่งผลให้ บจ. ต้องเตรียมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยการผสมผสานเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นหนึ่งในแผนการทำธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ออกแนวปฏิบัติที่สะท้อนความจำเป็นดังกล่าวไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ บจ. (CG Code) รวมทั้งหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) การจัดสัมมนามีวัตถุประสงค์ให้ บจ. ได้ทราบความคาดหวังของผู้ลงทุนสถาบัน และผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และประสานความร่วมมือใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ปาฐกถาในหัวข้อ “ธุรกิจไทยบนเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการจัดการความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และบรรษัทภิบาลอย่างมาก จากเดิมที่ภาคธุรกิจถูกคาดหวังเพียงการทำประโยชน์ในส่วนของตน และภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของประโยชน์สาธารณะ

ปัจจุบันภาคธุรกิจมีการเติบโตและกลายเป็นผู้มีความสำคัญจนนับเป็นพื้นฐานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศ ทั้งจากการที่ธุรกิจมีผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ ประกอบกับภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บุคคลหลายภาคส่วนคาดหวังให้ภาคธุรกิจเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการนำบรรษัทภิบาลมาและกลายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าภาครัฐ ธุรกิจจึงต้องเข้มแข็งและทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่เจริญเติบโตไปด้วยกันได้

Mr.Jamie Allen ผู้บริหารของ Asian Corporate Governance Association (ACGA) กล่าวว่า ผู้ลงทุนสถาบันมีความสำคัญมากขึ้นจนนับเป็นส่วนสำคัญของผู้ถือหุ้น การมีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนโยบายต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหาร บจ. ดำเนินธุรกิจอย่างคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะนำพาธุรกิจเติบโตในระยะยาว มากกว่าการมองผลประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งนับเป็นการกำกับดูแลการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน

ด้านผู้ร่วมเสวนาจากภาคธุรกิจเห็นร่วมกันว่า การก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและเตรียมการรับมือให้พร้อมกับความคาดหวังจากผู้ลงทุนทั้งเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ ความรวดเร็วในบริการ และเรื่องของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการบริหารจัดการบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ จึงเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในทุกมิติ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างตลาดทุนให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาศักยภาพของ บจ. ตามหลัก CG Code ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์องค์กรที่ยั่งยืน การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านความยั่งยืนขององค์กร การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัดคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ไปพร้อมกับการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

“การเติบโตอย่างยั่งยืนจะพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยตัว บจ. เอง รวมถึงการมีแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนสถาบัน”นายรพี กล่าว