SA ลุ้นปี 64 จ่ายปันผลครั้งแรกในรอบ 10 ปี

HoonSmart.com>>”ไซมิส แอสเสท” มีแผนจ่ายปันผลครั้งแรก ในรอบ 10 ปี  นำเงิน IPO 825 ล้านบาท  ลด D/E ขยายโครงการใหม่ ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหนุนมาร์จิ้นโต ขณะที่ Backlog มีกว่า 9 พันล้านบาท ทยอยรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีหน้าอีก  2-3 พันล้านบาท ออกหุ้นกู้  2-3 พันล้านบาท พร้อมศึกษาแปลงสินทรัพย์ให้เป็นโทเคน หวังดึงนักลงทุนต่างชาติ

บริษัท ไซมิส แอสเสท (SA) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรกวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ราคาเปิดที่ 7.55 บาท และขึ้นสูงสุด 7.85 บาท ก่อนปิดที่ 5.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท คิดเป็น 7.27% จากราคา IPO ที่ 5.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 2,281 ล้านบาท

​นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซมิส แอสเสท (SA) เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าที่จะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นการจ่ายปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำไรสะสม  ประมาณ 800 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3  และคาดว่าสิ้นปี 2563 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลยังต้องรออนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนเม.ย.2564

ส่วนในปี 2564  บริษัทลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้เงินระดมทุนประมาณ 825 ล้านบาท 1.โครงการ Blossom Condo @ Fashion 3 ซึ่งมีแผนพัฒนาเป็น Mixed-use Real Estate มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการ Above 39 มีแผนปรับปรุงเป็นโรงแรมหรือห้องชุดให้เช่าพร้อมบริการภายใต้มาตรฐานโรงแรม มูลค่าโครงการประมาณ 1,900 ล้านบาท และ 3. โครงการ Blossom Condo @ TSH Station มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

บริษัทมีแผนจะซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPAs) มากขึ้น โดยเป็นสินทรัพย์สร้างเสร็จแล้ว ปัจจุบันบริษัทฯโครงการรวมประมาณ 20 โครงการ ซึ่งเป็น NPAs จำนวน 4 โครงการ

“เราตั้งเป้าจะกลับมาเติบโตให้เหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากโควิด แต่เรายังมีการบริหารต้นทุน ซื้อ NPAs เข้ามาบริหาร และสร้าง IRR ที่ดีแก่เรา รวมทั้งได้มาร์จิ้นที่ดีด้วย ซึ่งเราตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิ 20% ทุกปี” ​นายขจรศิษฐ์ กล่าว

ปัจจุบันบริษัทฯยอดขายรอโอน (Backlog) กว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 4 และทยอยรับรู้ในปี 64 ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2565-2567) โดยมีสินทรัพย์รวมประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับการเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) โดยไม่ต้องมีการลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่ม  ส่วนการนำเงินจากการขาย IPO ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน คาดว่าอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) สิ้นปีนี้จะลดลงเหลือ 1.3-1.4 เท่า จากสิ้นไตรมาส 3  อยู่ที่ 2.1 เท่า โดยจะควบคุมให้ไม่เกิน 1.7 เท่า

นอกจากนี้บริษัทฯมีแผนที่จะออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท  เพื่อรองรับแผนการลงทุนต่างๆในอนาคต โดยบริษัทได้เตรียมการจัดอันดับเครดิตในช่วงไตรมาส 1/64

นายขจรศิษฐ์ กล่าวถึงกรณีการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นโทเคน (Tokenization) หรือเป็นสัญญาดิจิทัลในรูปของหลักทรัพย์โทเคน ที่สามารถแลกเปลี่ยนได้บน Blockchain เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งบริษัทกำลังศึกษาที่จะทำการขายอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะดังกล่าว เอื้อให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ ในภาวะที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ แต่ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ด้านนายเล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า SA เป็นบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีศักยภาพ มีการนำความรู้ความสามารถจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาพัฒนา ทั้งด้านต้นทุนและเทคนิคการก่อสร้าง และมีบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาฯ เช่น การให้บริการบริหารนิติบุคคลอาคารชุด, ธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายในรูปแบบ Branded Residence, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

SA ถือได้ว่าเป็นบริษัทฯ ที่มีจุดแข็งแตกต่างเหนือคู่แข่ง และยังสามารถทำผลการดำเนินงานได้เติบโตต่อเนื่อง แม้ในยามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนในช่วงการจองซื้อหุ้น IPO เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน