ตลท.ปลุกความเชื่อมั่นหุ้นไทย เผยผลวิจัยต่างชาติลงทุนยาว

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เผยผลวิจัยพบนักลงทุนต่างประเทศสนใจตลาดหุ้นไทย สัญชาติเพิ่มขึ้นเป็น 116 สัญชาติ ณ ส.ค.63 เลือกกอดลงทุนระยะยาวในส่วนหุ้นต่างชาติ (foreign share) นานจนได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน-แปลงวอร์แรนต์ ซื้อสะสมผ่าน NVDR ชอบซื้อขาย  DW ด้วย บล.บัวหลวงชี้เป้าปีหน้า 1,550 จุด เชียร์ IVL ,PTTGC ,IRPC ,CRC ,CPN ,CPALL ,SCGP ,BAM ,CHAYO,JMT ส่วนตลาด 22 ธ.ค .ดัชนีรีบาวด์+22.61 จุด หลังจากทรุดหนักกว่า 80 จุด ต่างชาติเก็บต่อกว่า 2 พันล้านบาท สวนทางสถาบันไทยทิ้งอีก -2,559 ล้านบาท

 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออก SET Note เผยผลวิจัยพบว่านักลงทุนต่างประเทศสนใจตลาดหุ้นไทย โดยมีนักลงทุนสัญชาติใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนส.ค. 2563 มีทั้งสิ้น 116 สัญชาติ เพิ่มขึ้นสุทธิ 2 สัญชาติ คือเข้าใหม่ 7 สัญชาติและออกจากตลาด 5 สัญชาติ แม้ว่าจะมีมูลค่าการถือครองรวม 3.76 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากเดือนพ.ค.2562 แต่สาเหตุสำคัญมาจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงถึง 19.11% ทำให้สัดส่วนต่อมาร์เก็ตแคปลดลงอยู่ที่ 26.91% จาก 29.45% ในสิ้นเดือนพ.ค.2562

ทั้งนี้นักลงทุนจากสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และนักลงทุนบุคคลจากสาธารณรัฐแซมเบียเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นครั้งแรก ส่วนสัญชาติที่ออกไปเกือบทั้งหมดถือครองมากกว่า 1 ปี

นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่ม SET100 ทำให้ให้ได้รับผลกระทบจากราคาลดลงมากกว่าดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ ( SET Index) แบ่งเป็น  75% อยู่ใน SET 50 ส่วนที่เหลือ 7% อยู่ใน SET51-100 ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ลดลงใกล้เคียงกัย SET 50 และ SET 100 ที่ทรุดกว่า 20%

ส่วนกรณีนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิกว่า 291,480 ล้านบาท ในช่วงเดือนมิ.ย.2562-ส.ค. 2563 มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมี.ค. ขายมากที่สุด 78,363 ล้านบาท ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้มาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) ถึง 3 ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นการขายทำกำไรระยะสั้นในหุ้นในประเทศ (local share) จำนวน 364,324 ล้านบาท แต่ขายหุ้นในส่วนต่างประเทศ (foreign share) ที่ถือไว้ลงทุนระยะยาวเพียง 9,474 ล้านบาท ในทางกลับกันมีการซื้อสะสมผ่าน NVDR กว่า 82,228 ล้านบาท สะท้อนว่าทำกำไรระยะสั้น ขณะที่มีความเชื่อมั่นบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ยังคงถือเพื่อลงทุนระยะยาว และซื้อสุทธิใน 2,215 หลักทรัพย์จาก 7,179 หลักทรัพย์ที่ซื้อขาย

อีกสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศไม่นิยมนำหุ้นกลุ่ม foreign share ออกมาซื้อขาย เพราะหากขายออกไป อาจไม่สามารถซื้อกลับได้ รวมถึงสภาพคล่องต่ำ

นักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น มากกว่า 3 ใน 4 ถือครองหุ้น foreign share ที่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม และยังได้สิทธิทางการเงิน มีการใช้สิทธิสะสมหุ้นเพิ่มเติมผ่านการระดมทุน ทั้งการจองซื้อหุ้นบริษัทเข้าใหม่(IPO) การเพิ่มทุนของบจ.เดิม และการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกันใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW) นักลงทุนต่างชาติก็มีการซื้อขายด้วยจำนวน 6,225 หลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าซื้อขายรวม 2 ล้านล้านบาท และมีสถานะขายสุทธิ 2,828 ล้านบาท และมีหลักทรัพย์ 1,783 หลักทรัพย์ที่ซื้อสุทธิ

ส่วนการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 31 บริษัทในช่วงเดือนมิ.ย.2562-ส.ค. 2563 มูลค่ารวม 133,903 ล้านบาท พบว่าต่างชาติ 34 สัญชาติ ได้ใช้สิทธิและรับประโยชน์รวม 18,397 ล้านบาท อันดับแรก เป็นการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO) มูลค่ารวม 9,517 ล้านยาท ตามด้วยการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน 6,303 ล้านบาท และการแปลงวอร์แรนต์เป็นหุ้น 2,440 ล้านบาท และปันผลเป็นหุ้น 137 ล้านบาท

ในเดือนพ.ย.2563 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิเป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน (นับตั้งแต่เดือนก.ค. 2562) ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 32,506 ล้านบาท  ขณะที่ดัชนีหุ้นปิดที่
1,408.31 จุด เพิ่มขึ้น 213.36 จุด ในเดือนเดียว คาดว่าปัจจัยบวกจากราคาหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7% ใกล้เคียงการเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ของ SET100

ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยว่า  เป้าหมายดัชนีหุ้นในปี 2564 อยู่ที่ 1,550 จุด อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E ) ที่ 18 เท่า คิดเป็นอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 86 บาท ส่วนปีนี้มองดัชนีหุ้นอยู่ที่  1,430 จุด

“หุ้นที่ดีขึ้นในปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ  คาดGDP จะเติบโต 4.4% จากปีนี้ที่คาดว่าจะ -6.1%  และยังมีเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิ จากสภาพคล่องทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่สูง ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย เพราะอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง  เมื่อลบกับอัตราเงินเฟ้อ ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก แตกต่างจากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นลบ” นายชัยพร กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ได้แก่กลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการบริโภคในสหรัฐ และการค้าโลกที่เติบโต (กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มเดินเรือคอนเทรนเนอร์ ) ,กลุ่มธุรกิจสนับสนุนการบริโภคในประเทศ (กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการเงินบุคคล และกลุ่มพัสดุหีบห่อ) ,กลุ่มที่ประโยชน์จากวัคซีน (กลุ่มท่องเที่ยว การเดินทางทางอากาศ และบริการ) ,กลุ่มที่บริหารสินทรัพย์ด้องค่า ติดตามหนี้ และกลุ่มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 5G โดยคัดหุ้น Top Picks ดังนี้ IVL ,PTTGC ,IRPC ,CRC ,CPN ,CPALL ,SCGP ,BAM ,CHAYO และ JMT

นอกจากนี้แนะนำปรับน้ำหนักการลงทุนใหม่ โดยลดตราสารหนี้และเงินฝาก เพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นทั้งประเทศและต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่แนะนำประมาณ 60% ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนทองคำ น้ำหนักการลงทุนเท่าเดิมที่ 10% และ 15% ตามลำดับ

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 22 ธ.ค.2563 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,424.39 จุด +22.61 จุด หรือ +1.61% มูลค่าการซื้อขาย 87,824.78 ล้านบาท ต่างประเทศซื้อสุทธิ 2,014.79 ล้านบาท ตามด้วยนักลงทุนไทย 417.61 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 126.85 ล้านบาท ส่วนสถาบันขายสุทธิ 2,559.25 ล้านบาท

นายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน- วิเคราะห์เทคนิค บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นผันผวนได้ปัจจัยหนุนจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศและอังกฤษที่กลายพันธุ์  โดยมีแรงซื้อหุ้นกระจายกลุ่ม เช่น พลังงาน แบงก์ ปิโตรเคมี นอกจากนี้มีแรงเก็งกำไรกลุ่มไฟแนนซ์คาดกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50 %ตามคาด

“ฟันด์โฟลว์ยังเป็นปัจจัยหนุนตลาด เห็นได้จากเมื่อวานนี้หุ้นลงแรง 80 จุด แต่ต่างชาติยังซื้อหุ้น รวมทั้ง Futures และตราสารหนี้ วันที่ 23 ธ.ค.ฟันด์โฟลว์ยังหนุนดัชนีขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,440-1,453 จุด ส่วนแนวรับ 1,400 และ 1,385 จุด”นายคณฆัสกล่าว