HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” คงอันดับเครดิตบล.บัวหลวง ระดับ AA แนวโน้ม Stable สะท้อนสถานะทางการตลาดแข็งแกร่งในธุรกิจหลักทรัพย์ ฐานทุนปึ๊ก บริหารความเสี่ยงรัดกุม ความสามารถสร้างกำไรแข็งแรง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ AA ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) (ได้รับอันดับเครดิต BBB+/Stable จาก S&P Global Ratings)
ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักทรัพย์ ฐานทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแรง การจัดการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เข้มแข็ง
สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งมองว่า บริษัทเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของธนาคารกรุงเทพเนื่องจากบริษัททำหน้าที่เป็นเครือข่ายทางด้านตลาดทุนของธนาคารเพื่อให้ธนาคารสามารถให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่ลูกค้า โดยธนาคารกรุงเทพถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท การส่งเสริมให้มีการแนะนำลูกค้าระหว่างกันยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของกลุ่มอีกด้วย ปัจจุบันประมาณ 50% ของบัญชีที่เปิดใหม่ของบริษัทเกิดจากการแนะนำลูกค้าจากธนาคาร โดยนอกจากความช่วยเหลือทางด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อซึ่งช่วยเสริมสถานะทางการเงินของบริษัทอีกด้วย ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ความเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจไว้ได้ในระยะยาว โดยความแข็งแกร่งในการแข่งขันของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมและเพิ่มมูลค่าซึ่งช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งให้กับบริษัทและทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าบริษัทจะเสริมความแข็งแกร่งและขยายผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีบริการใหม่ ๆ หลายรายการ รวมไปถึง Global Investing ซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้
สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทนั้น บริษัทยังคงเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งการตลาดในหลากหลายธุรกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 8.4% อีกทั้งบริษัทยังมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายซื้อขายตราสารอนุพันธ์เป็นอันดับ 3 ด้วยส่วนแบ่ง 7.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทก็ยังคงอยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นเดียวกันด้วยส่วนแบ่งรายได้ 13% โดยเฉลี่ย 3 ปี (2560-2562)
ฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่งบริษัทมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวดี โดยมีสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการในระดับสูงและมีรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ในปี 2562 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมและบริการ และกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 48%, 23% และ 11% ของรายได้รวมตามลำดับ เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 52%, 17% และ 12%
การมีธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับของผลประกอบการทางการเงินไว้ได้ โดยเห็นได้จากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งรายได้ที่แข็งแรงจากธุรกิจดังกล่าวช่วยทดแทนผลขาดทุนจำนวนมากจากธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) เนื่องจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่มากกว่าปกติ จึงส่งผลให้บริษัทยังคงมีกำไรสุทธิที่ค่อนข้างคงที่ที่ 324 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เปรียบเทียบกับ 330 ล้านบาทใน 6 เดือนแรกของปี 2562
ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทมีการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าในระดับต่ำจากฐานลูกค้าที่กระจายตัวมากของบริษัทโดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยด้วยจำนวนบัญชีกว่า 400,000 บัญชี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้ารายใหญ่ 20 รายแรกของบริษัทคิดเป็นเพียง 13% ของรายได้ค่านายหน้ารวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563
นอกจากนี้ปัจจัยที่สนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทที่สำคัญคือฐานทุนที่แข็งแกร่งโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital, RAC) ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทจะดำรงอยู่ที่ระดับประมาณ 36% โดยเฉลี่ย 5 ปี (2561-2565) เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่และเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่ไม่สูง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 8.8 พันล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลและแผนการขยายธุรกิจที่มีความระมัดระวัง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าฐานทุนและภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในระยะเวลาปานกลาง
ทั้งนี้ บริษัทยังมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 160.6% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งสูงกว่า 8 คู่แข่งและเกณฑ์ที่ทางการกำหนดที่ระดับ 7% ค่อนข้างมาก
ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็งอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ในทุก ๆ ธุรกิจพร้อมกับควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและรักษาความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแรงไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ในระยะปานกลางแม้ว่าบริษัทจะมีผลขาดทุนจากธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 โดยบริษัทได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อป้องกันการขาดทุนจากความผันผวนในตลาดที่มากเกินปกติ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วอยู่ที่ 2.6% เทียบกับ 3.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาค่าใช้จ่ายดำเนินงานในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจากการปิดสาขาบางสาขาและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากสาขาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ 56.0% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 64.5%
นโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ระมัดระวังและระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนสถานะทางความเสี่ยงของบริษัท โดยในมุมมองของทริสเรทติ้งบริษัทสามารถควบคุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ได้ หลังจากที่บริษัทมีผลขาดทุนจากธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เนื่องจากระดับความผันผวนของตลาดหุ้นที่เหนือความคาดหมายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 นั้นบริษัทก็ได้ลดการทำธุรกิจดังกล่าวโดยทันทีและทำการปรับปรุงนโยบายทางความเสี่ยงเพื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลขาดทุนในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้ง บริษัทยังไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินลงทุนของบริษัทเองเพื่อเก็งกำไร ซึ่งช่วยให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่จำกัดอีกด้วย
บริษัทยังคงดำรงนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตที่ระมัดระวังด้วยการอนุมัติสินเชื่อที่รอบคอบและมีนโยบายการวางหลักประกันสำหรับทั้งเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่เข้มงวด ส่งผลให้บริษัทไม่มีหนี้เสียใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม 2563
นอกจากนี้สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฐานทุนที่เข้มแข็ง ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Gross Stable Funding Ratio, GSFR) จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 300% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
สถานะสภาพคล่องที่แข็งแรงของบริษัทเห็นได้จากอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Metric, LCM) ที่ระดับประมาณ 6 เท่าโดยเฉลี่ย 5 ปี (2561-2565) ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่พร้อมสำหรับการเบิกจ่ายจากสถาบันการเงินหลายแหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธนาคารกรุงเทพ ช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทอีกด้วย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2566 มีดังนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4%-5% อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.15% และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50%
สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะคงสถานะบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มธนาคารกรุงเทพและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป โดยปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงหากสถานะด้านเครดิตของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ หรือระดับที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพเปลี่ยนแปลงไป หรือสถานะบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของบริษัทต่อกลุ่มธนาคารกรุงเทพเปลี่ยนแปลงไป