โบรกฯ มองเลื่อน IFRS9 ตามคาด ห่วงเช่าซื้อรายเล็ก

“บล.เอเซีย พลัส” มองกบบ.เลื่อนใช้ IFRS9 ออกไปอีก 1 ปี ไม่กระทบกลุ่มแบงก์ ส่วนใหญ่เริ่มดำเนินการมาแล้ว ห่วง “เช่าซื้อ” รายเล็ก เริ่มเก็บข้อมูลทำบัญชี

น.ส.อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กว่าวว่า กกบ.เลื่อนใช้ IFRS9 ไปอีก 1 ปี เป็นไปตามคาด มองว่า ไม่ได้มีผลกระทบอย่างใดกับกลุ่มแบงก์ เนื่องจากขณะนี้แบงก์ส่วนใหญ่ได้เริ่มดำเนินการตามมาตรฐานบัญชีดังกล่าวมา 2 ปีแล้ว แม้ว่าจะประกาศเลื่อนไป แต่การจัดทำบัญชีในปี 2561-2562 ก็ยังต้องทำเหมือนเดิม เป็นความต่อเนื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ก่อนจะใช้จริงในต้นปี 2563

รวมทั้ง การเลื่อนออกไป 1 ปี ถือว่าไม่ได้มีผลกระทบทำเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เลื่อนนาน

สำหรับกลุ่มเช่าซื้อนั้น ในส่วนของรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น SAWAT และ MTC ก็มีการเตรียมการให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 มาแล้วเช่นกัน จึงไม่กังวล แต่ที่กังวลจะเป็นเช่าซื้อรายเล็ก ที่อาจจะเพิ่งเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำบัญชีในปีนี้ เช่น S11 และ LIT เป็นต้น

ด้านบล.ทรีนีตี้ มิงการเลื่อนบังคับใช้ IFRS9 นั้น เป็นประเด็นที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ซึ่งมองว่าส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารในเชิงจิตวิทยา ส่วนผลกระทบต่อพื้นฐานนั้นมองว่าค่อนข้างน้อย เนื่องจากธนาคารต่างๆ ได้มีการเตรียมพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว และจากการคำนวณของบล.ทรีนีตี้ สำรองส่วนเกินของธนาคารต่างๆ เพียงพอรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ในส่วนของสำรองหนี้แล้ว

ขณะที่รายละเอียดอื่นของ IFRS9 อาทิ การคำนวณรายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดนั้น มองว่ามีผลกระทบไม่มาก และจากการให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสามารถเริ่มใช้ไปก่อนได้นั้น มองว่ามีโอกาสที่ธนาคารต่างๆ จะเริ่มใช้มาตรฐานใหม่ภายใน 1 ม.ค.62 ตามกำหนดการเดิมเลย

ในทางกลับกันบริษัทในกลุ่มที่มีการปล่อยสินเชื่อที่มีสำรองส่วนเกินต่ำกว่าธนาคารจะได้รับผลบวกจากการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 มากกว่า ทั้งในกลุ่มที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน อาทิ KTC, AEONTS ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน อาทิ SAWAD, MTC และสินเชื่อเช่าซื้อ อาทิ ASK, THANI, TK และ S11 เป็นต้น