ธุรกิจเช่าซื้อรถฟื้น ปี 64 ศูนย์วิจัยกสิกรฯห่วงหนี้เสีย

ทรHoonSmart.com>>บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองธุรกิจเช่าซื้อรถในระบบแบงก์พาณิชย์ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 และปี 64  ตามยอดขายรถยนต์ คาดทั้งปีนี้โต 3.7%  ปีหน้ามีลุ้นขยายตัวถึง 4.5% จับตาหนี้เสียเพิ่มตาม  คาดดอกเบี้ยทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2563 และปี 2564 ตามการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ คาดยอดขายรถใหม่อาจโตถึง 7-11%  เป็นประมาณ 8.26-8.55 แสนคันในปีหน้า ขณะเดียวกันหนี้ด้อยคุณภาพก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น และอาจต่อเนื่องถึงปี 2564 แต่น่าจะอยู่ในกรอบที่ไม่สูงนัก เนื่องจากมีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยอยู่ และดัชนีราคารถมือสองที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ ยังเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อผู้ให้บริการในการจำหน่ายหนี้เสีย

ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวที่ 3.7% หรือ 1.194 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 3 ที่ 3.5% หรือ 1.178 ล้านล้านบาท แต่ชะลอลงจากระดับ 7.7% ในปี 2562 สอดคล้องกับการหดตัวของยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มีโอกาสทรงตัวถึงปรับตัวลดลงเล็กน้อย

สำหรับในปี 2564 หากเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างที่คาด และไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับที่รุนแรง น่าจะเห็นการเติบโตขยับขึ้นมาที่ประมาณ 3.7-4.5% แต่จะมาควบคู่กับความกังวลด้านคุณภาพหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หลังมาตรการชะลอการชำระหนี้ระยะแรกของธนาคารแต่ละแห่งทยอยสิ้นสุดลงในระหว่างเดือนก.ค.-ต.ค. 2563 เบื้องต้นคาดว่าความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อาจมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 5-10% ของพอร์ต ขึ้นกับคุณภาพหนี้ของธนาคารแต่ละแห่ง ท่ามกลางสถานการณ์รายได้และอำนาจซื้อของลูกค้าที่ยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ธุรกิจเช่าซื้อรถเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากอำนาจซื้อรถยนต์ใหม่ที่ลดลงและนโยบายเครดิตที่ระมัดระวังของธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดหลัก ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 เติบโตชะลอลงมาที่ 3.5% เทียบกับ 7.7% ณ สิ้นปี 2562 ตามการปรับลดลงของสินเชื่ออนุมัติใหม่ และการลดลงของยอดขายรถใหม่รวมที่ -30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมาที่ 5.3 แสนคัน ประกอบกับผู้ให้บริการสินเชื่อของบริษัทรถยนต์ เข้ามาทำตลาดเองเพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันยอดขายรถ

“ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อยังไม่ถดถอยถึงขั้นหดตัวตามยอดรถใหม่ เนื่องจากยังมีพอร์ตสินเชื่อเดิมค้างอยู่กว่า 90% ของพอร์ตทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อใหม่ไม่เกิน 10% อีกทั้งมีปัจจัยพิเศษของมาตรการชะลอการชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ตรึงยอดสินเชื่อเดิมไว้ชั่วระยะเวลา 3-6 เดือน โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เข้ามาตรการระยะที่ 1 สูงถึง 54% ณ ไตรมาส 2 ก่อนจะทยอยลดลงมาที่ 31% ณ ไตรมาส 3  ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างถูกตรึงไว้แทนที่จะทยอยปรับลดลง เฉลี่ย 5-9 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 2 และอีก 3-6 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 3 หากมีการชำระหนี้ตามปกติ” บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ