วิเคราะห์ประสานเสียง”ซื้อ” KTC ราคาลงมามาก พื้นฐานไม่เปลี่ยน หยวนต้ายืนเป้า 41 บาท เคทีบีลดจาก 36 เหลือ 27 บาท ลดประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้า ฟิลลิป 31.30 บาท
บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) เด้งกลับแรงขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 28.75 บาท ก่อนอ่อนตัวลงมาซื้อขายที่ 24.90 บาท บวก 1.80 บาท คิดเป็นประมาณ 7.79% ณ เวลาประมาณ 10.47 น. หลังจากวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ดิ่งลงฟลอร์สนิมปิดที่ 23.10 บาท
เช้าวันนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าราคาหุ้น KTC ที่ปรับตัวลงแรง เป็นจังหวะซื้อ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง บล. หยวนต้า แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 41 บาท ราคาฟลอร์ ไร้เหตุผล ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง บนประมาณการกำไรปี 2561 ที่ 5,200 ล้านบาท เติบโตถึง 58.2% สูงกว่าตลาดคาดราว 16.6% อีกทั้งกำไรไตรมาส 2 ที่ 1,300 ล้านบาทออกมามากกว่าตลาดคาด เชื่อว่าตลาดจะมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไร รวมถึงราคาเป้าหมายปี 2561 ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวสูง
“คาดกำไรสุทธิ ไตรมาส 3 และ 4 จะยังทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง คาดการตั้งสำรองลดลง ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ทำให้สำรองส่วนเกินมากเพียงพอต่อความไม่แน่นอนในอนาคต ส่วนสินเชื่อยังคงขยายตัวดี ทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล เพราะ KTC มีจุดแข็งเหนือคู่แข่งด้านโปรโมชั่นร้านค้าที่หลากหลาย ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ และมีรายได้หนี้สูญรับคืน เพราะ KTC ยังคงรักษาประสิทธิภาพการติดตามหนี้ได้ดีอย่างต่อเนื่อง” บล.หยวนต้าระบุ
ทางด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้น KTC หลังจากราคาร่วงลงแรง และแนะนำ “ซื้อ” แต่ลดราคาเป้าหมายเหลือ 27 บาท จากเดิมให้ไว้ 36 บาท
ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมานั้นเกิดการความกังวลในด้านผลประกอบที่จะอ่อนลง กำไรสุทธิในระยะยาวโตน้อยลงกว่าอดีต ตามแนวโน้มรายได้หนี้สูญรับคืนที่อาจมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว และกำไรจากการดำเนินงานก่อสำรอง(PPOP) มีอัตราการขยายตัวที่อ่อนตัว คิดเป็นอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี2561-2563 ที่ 6% แต่จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยต่างๆ จากคุณภาพสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมามาก จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น ซื้อ
อย่างไรก็ตาม มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปีหน้า ลง 9% เหลือ 4,900 ล้านบาท จากหนี้สูญรับคืนที่ลด กำไรสุทธิไตรมาส 2 ที่ 1,306 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่เราคาด แต่สูงกว่าตลาดคาด 14% จากการขยายตัวของสินเชื่อที่ 7% โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น 14% NPLs ลดลงเหลือ 1.27% จากไตรมาสก่อนที่ 1.34% บริษัทมีความสามารถในการติดตามทวงถามหนี้ที่สูงขึ้น, รายได้หนี้สูญรับคืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการตัดจำหน่ายสินเชื่อน้อยลงอยู่ที่ 695 ล้านบาท (จากปกติไตรมาส ละประมาณ 800 ล้านบาท) ส่งผลให้สำรองหนี้สงสัยจะสูญสุทธิลดลงที่ 525 ล้านบาท
สำหรับกำไรในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็น 52% ของประมาณการกำไรสุทธิคาดไว้ที่ 4,800 ล้านบาท
บล.ฟิลลิป ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ราคาหุ้นที่ปรับลดลงแรงเป็นโอกาสเข้าลงทุน ส่วนราคาเป้าหมายยังคงไว้ที่ 31.30 บาท หลังกำไรไตรมาส 2 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.45 %