HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดเฟดประชุม 15-16 ธ.ค.นี้ คงดอกเบี้ยนโยบายกรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม ไม่ประกาศใช้เครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆ เพิ่ม จับตารายละเอียดโครงการซื้อสินทรัพย์และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดเฟดอาจปรับประมาณการขึ้นเล็กน้อย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณฟื้นตัว แม้เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนแรกๆ ที่มีการเริ่มคลายล็อกมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 245,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดและต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มพลิกฟื้นกลับมาจากผลกระทบโควิด-19
แม้ตลาดแรงงานจะมีสัญญาณอ่อนแอลงบ้าง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แรงกดดันที่จะทำให้เฟดจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินในการประชุม FOMC รอบนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังประคองทิศทางขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง ประกอบกับมีสัญญาณความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนสำหรับต้านไวรัสโควิด-19 จากหลายๆ บริษัทที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการประชุมเฟดในรอบก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดีจุดจับตาสำคัญในการประชุมเฟดรอบนี้น่าจะอยู่ที่ 2 เรื่อง คือ รายละเอียดของแนวทางสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เฟดจะปรับทบทวนใหม่
ทั้งนี้ จากบันทึกการประชุมรอบก่อนและท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดสะท้อนว่า ในการประชุม FOMC รอบนี้ เฟดมีแนวโน้มคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน (8.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สำหรับ Mortgage-backed Securities) ไว้ตามเดิม แต่เฟดน่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดของแนวทางการดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ระยะข้างหน้า (Forward Guidance) โดยเฉพาะเงื่อนไขอายุของพันธบัตรที่ซื้อและกรอบเวลาของมาตรการ QE จากเดิมที่เฟดระบุเพียงว่าจะซื้อสินทรัพย์ภายใต้วงเงินดังกล่าวต่อไป ‘ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า’ เท่านั้น
นอกจากนี้เฟดอาจมีการปรับทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565-2566 ตามอานิสงส์จากวัคซีน แต่จะยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดต่อเนื่อง จะยังส่งผลกดดันทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินบาทและสกุลเงินในเอเชียอื่นๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น
หากนับเฉพาะในช่วงประมาณกว่า 1 เดือนหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ สิ้นสุดลง (3 พ.ย.-9 ธ.ค. 2563) จะพบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 3.7% และกำลังเข้าทดทดสอบแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2563 ท่ามกลางสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยนักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยรวมกันประมาณ 6.38 หมื่นล้านบาท (ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร 4.61 หมื่นล้านบาท และ 1.77 หมื่นล้านบาทตามลำดับ) ซึ่งอัตราการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวเป็นอันดับ 3 หากเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเป็นรองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าแล้ว 4.0% และเงินวอนของเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 4.6%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงเห็นเฟดส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมภายในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากความเสี่ยงจากโควิด-19 กำลังเลวร้ายลงจนทำให้หลายรัฐต้องมีการประกาศมาตรการควบคุมสถานการณ์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องรอแรงกระตุ้นจากมาตรการฝั่งการคลังที่คงจะเริ่มมีผลจริงต่อเศรษฐกิจภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ดังนั้นสำหรับผลต่อไทยที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด น่าจะอยู่ที่แรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเพิ่มเติมในปีหน้า โดยคาดว่า เงินบาทอาจทยอยแข็งค่าไปที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายปี 2564 ท่ามกลางแรงหนุนจากปัจจัยที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟดเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและความเป็นไปได้ที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินในเอเชียและไทยต่อเนื่อง