ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบจาก “การเทรดด้วยความถี่สูง” หรือ HFT (High Frequency Trading) หรือ โปรแกรมการซื้อขายหุ้นที่ตัดสินใจรวดเร็วและเน้นปริมาณการซื้อขาย เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแล
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Siametrics Consulting ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูล กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างทำงานวิจัยด้านตลาดทุนให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหัวข้อหนึ่ง คือ การศึกษาว่าการเทรดด้วยความถี่สูงมีผลกระทบกับตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยจะนำไปสู่การเสนอคำแนะนำในการกำกับดูแลในอนาคต
“High Frequency Trading เป็นปัญหาในหลายประเทศ ซึ่งเป็นการทำเงินง่ายๆ เหมือนมีเงินตกอยู่ใครเร็วกว่าก็ได้ไป แต่ไม่เป็นประโยชน์กับตลาดโดยรวม และในประเทศไทยเริ่มมีการนำโปรแกรมลักษณะนี้มาใช้บ้างแล้ว ซึ่งเป็นคำถามว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรจะเข้าไปกำกับดูแลหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า ควรกำกับดูแลการกระทำอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดผลกระทบกับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ให้โดนลูกหลง แต่การกำกับดูแลที่เข้มงวดเกินไปอาจจะไปทำให้ไม่เกิดการพัฒนา” ดร.ณภัทร กล่าว
นอกจากนี้ ดร.ณภัทร กล่าวอีกว่า ในอนาคตการใช้ระบบเทรดอัตโนมัติ (Robot Trading) และการเทรดโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Trading) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เช่น การคัดเลือกหุ้นที่น่าลงทุน และจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม
“ในอนาคต AI Trading จะมาแน่ และไม่มีเหตุผลที่จะไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราจะอยู่กับมันอย่างไร จะมีการกำกับดูแลอย่างไร และสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินการลงทุนแนะนำให้ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจะดีกว่า เพราะในอนาคตปัจจัยการลงทุนจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น” ดร.ณภัทร กล่าว
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ตอบโจทย์ตลาดทุนไทย ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ว่า แม้ว่าระบบเทรดอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเอาชนะมนุษย์ได้ แต่ยังไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ทุกสถานการณ์ ดังนั้นในการลงทุนจึงยังมีความเสี่ยงอยู่
“เพราะฉะนั้นคำถาม คือ นักลงทุนจะเลือกลงทุนที่สอดคล้องกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของตนเองอย่างไร เพราะในโลกนี้ยังหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่มีความเสี่ยงต่ำไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง แต่ในระยะสั้นยังมีความผันผวนอยู่ดี” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ด้าน ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงรูปแบบการยอมรับความเสี่ยงของคนไทย มีเพียงการนำโมเดลของต่างชาติมาปรับใช้เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อการให้คำแนะนำการลงทุน และการจัดสัดส่วนการลงทุนที่ไม่เหมาะสม