HoonSmart.com>>“อีสท์ วอเตอร์” เผยช่วงโควิด-19 กระทบการใช้น้ำ คาดปีนี้รายได้ลดลง 10% ส่วนปี 64 คาดปริมาณการใช้น้ำ-รายได้ฟื้น ใกล้เคียงปี 62 ตั้งงบลงทุน 1.5-1.6 พันล้านบาท วันนี้ได้ลงนามเช่าที่ดินราชพัสดุ เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบ รองรับการใช้น้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มผลิตปี 65
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) เปิดเผยว่า การใช้น้ำของภาคท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯคาดว่าปริมาณการใช้น้ำของปีนี้จะลดลงเหลือ 260 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปีก่อนอยู่ที่ 296 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้รายได้ลดลง 10% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 4,729.27 ล้านบาท
ส่วนในปี 2564 บริษัทคาดว่าปริมาณการใช้น้ำจะใกล้เคียงกับปี 2562 รายได้จะเติบโตประมาณ 10% โดยตั้งงบลงทุนประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท ใช้ลงทุนระบบท่อขนส่งน้ำประมาณ 550 ล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบประมาณ 1,066 ล้านบาท คาดว่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการนี้ (IRR) ประมาณ 12% และจะผ่านจุดคุ้มทุนใน 8 ปี
วันนี้ (4 ธ.ค.63) บริษัทฯได้ร่วมลงนามเช่าที่ดินราชพัสดุร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบ รองรับการใช้น้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2565 ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาดมีคุณภาพระดับสากล และรองรับน้ำเสีย 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อวัน เป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสนามบิน
“EASTW มีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด – สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีถัดไป ให้เพียงพอมากขึ้น” นายจิรายุทธ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทได้สร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ สร้างระบบน้ำรีไซเคิล กำลังการผลิต 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง บริษัทจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการ EEC ในอนาคต
ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล โดย เลือกบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เป็นผู้ผลิตและบำบัดน้ำ และต้องส่งให้แก่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เพียงรายเดียวเท่านั้น