‘ทริส’ เพิ่มเครดิต SUPER สู่ BBB รุกขยายโรงไฟฟ้าหนุนโตต่อเนื่อง

HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ปรับเพิ่มอันดับเครดิต “ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยีฯ” เป็น BBB จาก BBB- แนวโน้ม Stable สะท้อนกระแสเงินสดเพิ่มต่อเนื่อง จากโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และหลากหลาย ผลสำเร็จรุกบิ๊กโปรเจ๊กต์ต่างประเทศหนุนกำลังผลิตรวมที่ดำเนินการแล้วจะเพิ่มแตะ 2,000 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า รายได้จากการดำเนินงาน 1.3 หมื่นล้านบาท

บริษัท ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เป็นระดับ BBB จากเดิมที่ระดับ BBB- ในขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น Stable หรือ คงที่ จาก Positive หรือ บวก ด้วย โดยการเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการมีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และหลากหลาย ในขณะเดียวกัน การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศของบริษัทอีกด้วย

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวเป็นปัจจัยสนับสนุน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากกลยุทธ์การเติบโดของบริษัทที่มีแนวโน้มจะทำให้ระดับการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ จากโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศเวียดนามด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจรวมถึงจะสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากและมีความมั่นคง นอกจากนั้นทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาโครงการที่รอดำเนินการได้ตามแผนการที่วางไว้และบริหารจัดการระดับการก่อหนี้ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งได้

สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้และกำไรเป็นผลมาจากความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและเวียดนาม

ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และหลากหลาย ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจำนวนกว่า 100 แห่ง กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมกัน 868 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัท (850 เมกะวัตต์) ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทริสมองว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามแม้จะมีเงื่อนเวลาที่จำกัด ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 6 แห่งในประเทศเวียดนามซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 287 เมกะวัตต์

โครงการบางแห่งของบริษัทในจังหวัดบินห์ถ่วนและนินห์ถ่วนในประเทศเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศที่ไม่สามารถรองรับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้นซึ่งทำให้เกิดการจำกัดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าในช่วงของการพัฒนาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปริมาณไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามของบริษัทยังสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ 90% (ระดับ P90) นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ซึ่งสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเวียดนามที่พัฒนาดีขึ้น

โรงไฟฟ้าของบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและการที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐของทั้งประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ในประเทศเวียดนามนั้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า

จุดแข็งของบริษัทคือผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนหลายแห่ง ซึ่งในภาพรวมจะเห็นว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงมาโดยตลอด ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิตมา ปริมาณไฟฟ้ารายปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทนั้นบรรลุคาดการณ์ตามความน่าจะเป็นที่ระดับ P75 ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งส่งผลทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัททรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วง 80%-90% ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 80%-90% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการประหยัดจากขนาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จาก 6 พันล้านบาทในปี 2563 และเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 8 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 4 พันล้านบาทในปี 2563

สำหรับความเสี่ยงของโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งอันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ 3 โครงการคือ Loc Ninh 1-3 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 550 เมกะวัตต์และมีกำหนดจะเปิดดำเนินการภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแม้จะเป็นเงื่อนเวลาที่ท้าทาย แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการให้โครงการเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าได้ตามกำหนดและได้รับราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT ตามที่ตกลงไว้เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาของบริษัท

นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่อยู่ในแผนงานอีกด้วย โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 421 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 4 แห่งซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เพื่อให้ได้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าตามที่ตกลงไว้ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะมีความเสี่ยงในการก่อสร้างที่สูงกว่าเนื่องจากมีเทคโนโลยีและการออกแบบที่ซับซ้อนมากกว่า การติดตั้งส่วนประกอบหลักที่มีความยุ่งยากก็อาจทำให้ต้นทุนของโครงการสูงกว่าที่คาดไว้หรือทำให้การก่อสร้างมีความล่าช้าออกไป และแม้สัญญาที่ทำไว้กับผู้รับเหมาโครงการจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บางส่วน แต่ความเสี่ยงในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทก็ยังคงมีอยู่อันเนื่องมาจากเงื่อนเวลาที่จำกัดเพื่อให้ได้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าตามที่ตกลงไว้

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศเวียดนามจะเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามเปิดดำเนินการได้ทั้งหมดแล้ว โครงการเหล่านี้จะคิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท ซึ่งบ่งบอกถึงการเปิดรับความเสี่ยงในประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก แม้ว่าความต้องการไฟฟ้าในประเทศเวียดนามจะเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนมากมายจากภาครัฐ แต่โครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามก็มีความเสี่ยงหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การปฏิบัติตามสัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ความเสี่ยงของคู่สัญญาเองก็ยังสูงกว่าอีกด้วย โดยทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity — EVN) ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น

กลยุทธ์การเติบโตยังคงดำเนินต่อไป
การขยายธุรกิจที่รวดเร็วจะเป็นปัจจัยท้าทายของบริษัทในการจะรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเอาไว้ โดยนอกจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะขยายสินทรัพย์ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานขยะโดยจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกอย่างน้อย 22 เมกะวัตต์จากโครงการใหม่ 2 แห่ง อนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังงานขยะโดยทั่วไปมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดจนความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายสู่ธุรกิจด้านใหม่ด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งถือสัมปทานจำหน่ายน้ำดิบและน้ำประปาเมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำของบริษัทจะยังคงมีขนาดเล็กอยู่ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทน่าจะทำให้ระดับการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนรวมของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนทางการเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามจะช่วยรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ของบริษัทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยบริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่คืนภายหลังจากที่โครงการได้เปิดดำเนินงานแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 65%-75% ในระยะ 3 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับ 65.3% ณ เดือนกันยายน 2563 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ในช่วง 6-7 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่เหนือระดับ 11% ในช่วงปี 2564-2566

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) นั้นช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินและความสามารถในการลงทุนให้แก่บริษัท โดยเมื่อปีที่แล้วบริษัทได้จำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ให้แก่กองทุนดังกล่าวและได้รับเงินสดจำนวนมาก ทั้งนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซึ่งถือเป็นทางเลือกในการระดมทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการภาระหนี้และเพิ่มศักยภาพในการลงทุนในอนาคตได้ โดยโรงไฟฟ้าในปัจจุบันที่ดำเนินการแล้วนั้นมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ จึงช่วยให้บริษัทสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจได้

ด้านสภาพคล่องยังคงบริหารจัดการได้ โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 4.5 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมกันจำนวนเกือบ 2.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่จำนวน 7.4 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะเปลี่ยนไปเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกจำนวน 0.8 พันล้านบาทสำหรับใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องให้มีเพียงพอได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

บริษัทและบริษัทย่อยมีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 3 เท่า ในขณะที่บริษัทย่อยต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1-1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกิน 2-3 เท่า ในการนี้ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทและบริษัทย่อยจะยังสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าวต่อไปได้