AIS จับมือ MBK สร้างแลนด์มาร์กจุดรับทิ้ง E-Waste จัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์

HoonSmart.com>>เอไอเอส ร่วมกับ เอ็ม บี เค  และคิดคิด ขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ใน 4 ศูนย์การค้าในเครือเอ็ม บี เค เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการคัดแยกทิ้งขยะอย่างถูกวิธี โดยสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งได้ ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป

 

 

นางสาววราลี จิรชัยศรี หัวหน้าส่วนงานสื่อสารองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเติบโตไปพร้อมกับทุกภาคส่วนถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของเอไอเอส  ที่ผ่านมาเราได้มุ่งมั่นเดินหน้าภารกิจเพื่อสังคม ชักชวนพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ให้คนไทยนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งอย่างถูกวิธี ผ่านโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2562 เพื่อนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 1,007,690 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูล การผนึกความร่วมมือกับศูนย์การค้าในเครือ เอ็ม บี เค ขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาช้อปปิ้งสามารถนำมือถือเก่า แบตเตอรี่ หูฟัง และอุปกรณ์เสื่อมสภาพอื่นๆ มาทิ้งที่กล่องรับ E-Waste ได้สะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น”

ด้าน นายวิศาล สิปิยารักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายบริหารพื้นที่เช่าและผู้เช่าสัมพันธ์ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของทุกๆ คน บริษัทฯ มีความตระหนักและมุ่งมั่นดำเนินการตามหลัก “องค์กรไทย หัวใจสีเขียว” โดยสร้างสรรค์และให้สนับสนุนโครงการที่เชื่อมโยงในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ภายในและภายนอกองค์กรโดยเฉพาะการกำจัดขยะอย่างสร้างสรรค์และถูกวิธี ซึ่งมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมกับ เอไอเอส ในการขับเคลื่อนโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน”

 

ปัจจุบัน “คนไทยไร้ E-Waste” มีจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 จุด เปิดรับขยะทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ และ หูฟัง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดที่เข้าสู่โครงการจะถูกรวบรวมและนำไปกำจัดแบบถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfilled หรือการกำจัดกากหรือของเสียโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม