HoonSmart.com>>ธปท.เตรียมออกมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนระยะสั้น-ยาว หนุนค่าเงินเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทางมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถรับการแข็งค่าของเงินบาทได้มากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจในเดือนต.ค. หดตัวสูงกว่าเดือนก่อน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน – ส่งออก-ท่องเที่ยว ยอมรับไตรมาส 4 ฟื้นไม่แรงเท่าไตรมาส 3 ยังดีมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐหนุนฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ธปท.เตรียมจะสรุปมาตรการเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะออกเป็นแพ็คเกจ ซึ่งมาตรการบางส่วนได้ทำไปแล้ว เพื่อจะดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะความผันผวนที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากปัจจัยระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ทั้งนี้แพ็คเกจดังกล่าวจะอยู่ในแผน FX Ecosystem ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทางมากขึ้น และผู้ประกอบการสามารถรับการแข็งค่าของเงินบาทได้มากขึ้น
สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งมากในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา มาจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามา ส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนที่เคยไหลออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้กลับเข้ามามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะนักลงทุนยังกังวลเรื่องแนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยจากการที่ยังไม่มีการเปิดประเทศ ซึ่ง ธปท. จะมีมาตรการดูแลไม่ให้มากระทบกับค่าเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผันผวนมากเกินไปจากการเก็งกำไร แต่ก็ต้องดูแลผลข้างเคียงต่อนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง
ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน ต.ค.2563 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในเดือนก่อนจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ในส่วนของผู้ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนที่ลดลงต่ำกว่า 4 ล้านคน จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่สูงระดับ 6 ล้านคน รวมทั้งรายได้รวมและเงินพิเศษ (โอที) เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคม ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม
นางสาวชญาวดี คาดว่า เศรษฐกิจ ในไตรมาส 4/2563 จะไม่ฟื้นตัวแรงเหมือนไตรมาส 3 เนื่องจากในไตรมาส 2 รัฐบาลมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดนิ่ง แต่ในไตรมาส 4 ยังมีแรงส่งสำคัญจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564