EIC ประเมินปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 4% ตามภาวะเศรษฐกิจโลก เซ็กเตอร์ “ส่งออก-ก่อสร้าง” ได้ประโยชน์มากสุด ห่วงกำลังซื้อยังกระจุกตัว แรงงานไม่ได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจฟื้น คาดบาทแข็งแตะ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% จากปีแล้วที่ขยายตัวได้ 3.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวค่อนข้างแข็งแรง ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนเอกชนที่มีสัญญาณขยายตัวได้ 3% เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มเป็น 67.6% เทียบกับทั้งปีที่แล้วที่อยู่ที่ 65% ประกอบกับมีการเร่งตัวของการลงทุนภาครัฐ
“ส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 5% จากปีที่แล้วที่ขยายตัว 9.9% เพราะปีที่แล้วฐานค่อนข้างสูง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มเป็น 38.2 ล้านคน จากปีก่อน 35.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 7.9% และการลงทุนภาครัฐที่จะมีการลงทุนต่อเนื่องในปีนี้ คิดเป็นเม็ดเงิน 7.66 แสนล้านบาท หลังจากชะลอตัวในปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ตรงนี้จะส่งผลดีต่อการลงทุนเอกชน และทำให้การลงทุนเอกชนปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน แต่ยังคงกระจุกตัวในเช็กเตอร์ส่งออก และเซ็กเตอร์ก่อสร้าง”นายยรรยงกล่าว
นายยรรยง กล่าวว่า ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องจับตา คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นการขยายตัวแบบกระจุกตัว โดยกลุ่มคนที่มีรายได้สูงจนถึงระดับกลางยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้นและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เห็นได้จากยอดซื้อรถยนต์ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ที่ขยายตัวเร่งขึ้น และยอดซื้อบ้านที่ขยายตัวได้ 5.5% ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกรและแรงงาน รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากและยังมีระดับหนี้สินที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีรายได้จากการทำโอทีในช่วง 2 เดือนแรกลดลงเหลือ 6.8 ล้านคน จาก 9.6 ล้านคนในปี 2558
“หนี้สินของเกษตรกรและแรงงานยังทรงตัวในระดับที่สูง เนื่องจากรายได้ปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเฉพาะเกษตรกรพบว่ามีรายได้ลดลง โดยในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ราคายางลดลง 46% และราคาอ้อยลดลง 21% และเมื่อไปดูตัวเลขอัตราว่างงาน แม้ว่าจะยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 1.3% หรือมีผู้ว่างงานเกือบ 5 แสนคน แต่เป็นอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ คนที่ทำงานโอทีก็ลดลง เพราะภาคการผลิตมีการปรับโครงสร้าง โดยนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้น และยังสะท้อนได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ส่งผ่านไปถึงตลาดแรงงานชัดเจน”นายยรรยงกล่าว
นายยรรยง ระบุว่า ในส่วนมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้า คือ แผงโซล่าร์เซล เครื่องซักผ้า เหล็ก และอลูมิเนียม จะมีผลกระทบจากการส่งออกของไทยโดยตรงเพียง 0.6% เท่านั้น และเชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะปรับตัวได้ โดยหาตลาดส่งออกอื่นๆทดแทน แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มสินค้าเหล็ก เพราะการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กของสหรัฐเป็น 25% จะทำให้เหล็กจากประเทศต่างๆ เช่น จีน รัสเซีย และตุรกี เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กในประเทศ แต่ส่งผลดีต่อผู้ใช้เหล็ก เพราะเหล็กจะมีราคาถูกลง
สำหรับทิศทางภาวะการเงินในปีนี้ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปีไว้ที่ 1.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% แต่ก็มีโอกาสที่กนง.จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ หากกนง.มีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงินที่มีความผ่อนคลายมาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ คาดว่าธนาคารกลางกลางสหรัฐจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปีนี้ แต่หากเฟดปรับดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ตลาดเงินเกิดความผันผวนได้
ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ EIC ประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ เพราะเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วยังคงไหลเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่อยู่ในช่วงการเริ่มต้นการขยายตัว เทียบกับประเทศพัฒนาที่อยู่ในท้ายๆของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยยังคงมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราที่สูง โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เทียบกับปีที่แล้วที่อยู่ที่ 32.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการขยายตัว ซึ่งจะทำให้มี Fund Flow เข้ามามาก แต่การเข้ามาของ Fund Flow จะมีความผันผวน หากมีตัวแปรอื่นๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นและอาจทำให้เฟดต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง”นายยรรยงกล่าว