HoonSmart.com>>”อินโดรามา เวนเจอร์ส ” ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีน้ำเงิน จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(IFC) เพิ่มขีดความสามารถรีไซเคิลในเอเชีย 4 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และหนึ่งประเทศในละตินอเมริกาคือ บราซิล ตั้งเป้ารีไซเคิลขวด PET 50,000 ล้านขวดต่อปีภายในปี 2568 ลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่โรงงานในไทย-อินเดีย
นายยาโชวาดัน โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส(IVL) เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการอนุมัติสินเชื่อสีน้ำเงิน หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่สนับสนุนการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลให้แก่บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส โกลบอล เซอร์วิสเซส (IVGS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มของ IVL ผู้ผลิตและผู้รีไซเคิลเม็ดพลาสติก PET ชั้นนำระดับโลก เพื่อทำการรีไซเคิลขวด PET (โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเรต) 50,000 ล้านขวดทั่วโลกต่อปีภายในปี 2568 ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 ประเทศในเอเชียและหนึ่งประเทศในละตินอเมริกา เพื่อนำเอาขยะพลาสติกออกจากหลุมฝังกลบและมหาสมุทร
เงินทุนสนับสนุนแห่งประวัติศาสตร์มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐที่จัดการโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก จะช่วยให้ IVL เพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียและบราซิล ซึ่งต้องต่อสู้กับขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและประสบกับปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และจะถูกนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“นับเป็นการอนุมัติสินเชื่อสีน้ำเงินครั้งแรกของ IFC ซึ่งมุ่งเน้นการจัดการมลพิษพลาสติกในทะเลโดยเฉพาะ สินเชื่อสีน้ำเงินเป็นนวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีการรับรองและติดตามเงินทุนที่ได้รับโดยเฉพาะสำหรับโครงการที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อาทิ การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านการดำรงชีพและงาน และ ความสมบูรณ์ของนิเวศวิทยาทางทะเล”
IVL กำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ซึ่งจำเป็นต่อการนำเอาขยะออกจากสิ่งแวดล้อมทางทะเล การรีไซเคิลขวด PET ให้กลายเป็นขวดใหม่คือการให้มูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ขยะ ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงในระบบจัดเก็บขยะ ปริมาณขยะที่ลดน้อยลงและมหาสมุทรที่สะอาดขึ้น IVLตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรีไซเคิล PET อย่างน้อย 750,000 เมตริกตันจากทั่วโลกภายในปี 2568 สร้างมูลค่าจากของเหลือทิ้ง ทำให้เกิดศักยภาพในการสร้างมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ
นายอัลฟอนโซ การ์เซีย โมรา รองประธาน IFC ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกกล่าว สินเชื่อสีน้ำเงิน ช่วยเติมเต็มการทำงานอย่างต่อเนื่องของ IFC ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกและยกระดับการจัดการขยะในเอเชีย สนับสนุน เรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวมไปพร้อมกัน
นอกจากช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลของ IVL ใน 5 ประเทศ สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดย IVL จะติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่โรงงานในประเทศไทยและอินเดีย และจะขยายไปสู่โรงงานแห่งอื่น และดำเนินโครงการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ที่โรงงานผลิตเส้นใยและ PET ในอินโดนีเซีย คาดว่ามาตรการประหยัดพลังงานจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงงานได้มากถึง 25% รวมถึงจะพัฒนาโครงการในบราซิลและโรงงานผลิตอื่น ๆ
สำหรับแพคเกจเงินสนับสนุนของ IFC ประกอบด้วยเงินกู้ไม่ด้อยสิทธิ 150 ล้านเหรียญสหรัฐจาก IFC และเงินกู้แลกเปลี่ยนกับกิจการอื่น (Parallel loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และ Deutsche Investitions-und Entwicklungsgesellschaft (DEG) IFC ยังร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลกเพื่อประโยชน์ด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนและจัดทำนโยบายและการลงทุนต่าง ๆ ที่จำเป็น ในการจัดการปัญหามลพิษพลาสติกทางทะเลที่มีความซับซ้อน