โอ้โห!! หุ้นแบงก์แรง ทะลุเป้าแล้ว BBL-KTB สินเชื่อต.ค.วูบ 2% KBANK โต

HoonSmart.com>>หุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) วิ่งแรง รับสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นเกินคาด และสะท้อนผลทดสอบที่มีประสิทธิภาพของวัคซีนมากขึ้น นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ดีดกลับอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ราคาทะยานขึ้นกว่า 20% แบงก์หลายแห่งวิ่งเข้าสู่เป้าหมายเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในปี 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หุ้นวัฏจักรเศรษฐกิจ ไม่ได้มีเพียงแบงก์เท่านั้น หุ้นกลุ่มขนส่ง พลังงาน ปิโตรเคมี ราคาก็ปรับตัวขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/63 พุ่งขึ้น 33.1% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วน GDP ของไทย แม้ว่ายังคงหดตัวอยู่-6.4 % แต่ยังดีกว่าที่คาดการณ์ และการส่งออกก็ฟื้นติดต่อกัน 3 เดือน มีโอกาสลุ้นดีต่อเนื่องในเดือนที่ 4 และเดือนที่ 5 ไม่แปลกใจที่ราคาหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ และธนาคารปรับตัวขึ้นแรง แต่ออกอาการดีใจมากเกินไปหรือเปล่า

ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ พุ่งขึ้นแรงถึง 16.27% คิดเป็น 194.39 จุด จากระดับต่ำที่สุดในรอบปีนี้ปิดที่ 1,194.95 จุด เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา และแล้วก็กระโดดขึ้นมาปิดที่ 1,389.34 จุด วันที่ 20 พ.ย.2563

ในส่วนหุ้นแบงก์มาไกลกว่านั้นมาก โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย (KBANK) วิ่งนำมาตั้ง 37.66% จากราคา 77 บาทเมื่อสิ้นเดือนก่อน ขึ้นมาปิดที่ 106 บาท ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายของนักวิเคราะห์ที่ให้ไว้เฉลี่ย  94-94.85 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ก็มาไกลเช่นเดียวกัน 35.38% จากระดับ 65 บาท ปิดที่ 88 บาท ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินมูลค่าเหมาะสม 72-75.77 บาทเท่านั้น โดยมีบล.เอเชียเวลท์ให้ราคาสูงสุด 92.50 บาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เพิ่มขึ้นมากว่า 27.69% ราคาปิดที่ 24.90 บาท สูงกว่าเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ที่ 20.50 บาท

ส่วนธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาขยับขึ้นมา 26.04% ปิดที่ 121 บาท ใกล้เคียงกับมูลค่าเหมาะสมของนักวิเคราะห์ แม้ว่ายังต่ำกว่าราคาเป้าหมายสูงสุดที่บล.ไทยพาณิชย์ให้ไว้ที่ 132 บาทต่อหุ้นก็ตาม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ราคาหุ้นแบงก์ดีดกลับขึ้นแรง เพราะที่ผ่านมาจมลงไปลึกเกินไป เห็นได้จากสัดส่วนราคาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าหุ้นทางบัญชี(บุ๊กแวลู) และเทรดที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E )ตัวเลขหลักเดียว ปัจจุบันไต่ขึ้นมาเป็นตัวเลขสองหลัก แถว 10 เท่า แต่ยังต่ำกว่า P/E เฉลี่ยของตลาด ขณะที่มีอัตราผลตอบแทนปันผลสูงเป็นสิ่งจูงใจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ตั้งเงื่อนไขจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของปี 2563 ได้ ไม่เกินอัตราที่จ่ายในปี 2562 และต้องไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิของปี 2563

นักลงทุนไล่ซื้อหุ้นแบงก์ เพราะกำไรมีโอกาสเติบโตขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังต้องระมัดระวังการขยายธุรกิจ สินเชื่อจะเติบโตได้ไม่มากหรืออาจจะยังลดลง เพราะกลัวปัญหาหนี้เสียตามมา เป็นภาระในการตั้งสำรองสูง

ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ รายงานแบบย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน( ธ.พ.1.1) ของเดือนต.ค. 2563 พบว่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ ของธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดลงมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2% จากเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันธนาคารกสิกรไทยสามารถขยายสินเชื่อได้มากกว่า 12,331 ล้านบาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่รายงานข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ส่วนเงินฝากยังคงไหลเข้าท่วมธนาคารกรุงไทยมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท เติบโตถึง 5.07%ในเดือนต.ค. ทำให้มีเงินฝากคงค้าง 2,434,580.77 ล้านบาท  และเงินไหลเข้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา 19,028 ล้านบาทหรือ +1.11% ส่วนธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพเงินฝากลดลง -9,962 ล้านบาท และ -1,514 ล้านบาท ตามลำดับ

ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะเข้าไปซื้อหุ้นแบงก์เพิ่ม จะต้องระมัดระวัง เพราะราคาขณะนี้ ในช่วงสั้น มีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงหรือปรับเพิ่มขึ้นอีกไม่มากนัก จนกว่าจะเห็นกำไรไตรมาส 4/2563  ออกมา หากขยายตัวดี หรือมีข่าวบวกใหม่ๆมาสนับสนุน ราคาก็มีโอกาสไปต่อ  หากราคาย่อยลงมา สำหรับนักลงทุนที่ต้องการถือลงทุนระยะยาว ก็น่าสนใจ เพราะมีเงินปันผลตอบแทนที่ดี และราคายังถูกกว่าบุ๊ก…