HoonSmart.com>>ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ส่งเสริมให้บจ.ทุกระดับให้ความสำคัญกับ ESG นำจุดเด่นด้าน health care -อาหาร และความยั่งยืนของบริษัทไทยเป็นจุดขายนักลงทุน “ภากร”เผยต่อยอดวิเคราะห์ร่วมกับสถาบันการจัดอันดับเครดิต 2 ราย ประเมินมูลค่าเพิ่มออกมา เลขาก.ล.ต.ยันการเปิดเผยข้อมูลไม่สร้างภาระเอกชน ชัดเจนและมีการเปรียบเทียบกัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ สร้างความยั่งยืนตลาดทุนไทย
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าในงานสัมมนา “ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” หัวข้อตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ในโอกาสสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าก้าวสู่ปีที่ 10 ว่า ตลาดทุนไทยจะนำเรื่องความยั่งยืนที่บจ.ไทยให้ความสำคัญมากขึ้นเป็นจุดขายให้นักลงทุนต่างชาติ และกองทุน โดยในปี 2563 บริษัทของไทยติดอันดับผู้นำของอุตสาหกรรมในระดับโลกมากถึง 7 บริษัท นับเป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกาและบริษัทไทยยังเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) จำนวน 21 บริษัท มากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
นอกจากนี้ บริษัทได้ผ่านการประเมินการประเมินบรรษัทภิบาล (CG) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ด้วยคะแนน 3 ดาวขึ้นไปมากถึง 625 บริษัท
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ยังดำเนินการต่อเนื่อง โจทย์คือจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร โดยร่วมมือกับสถาบันการจัดอันดับเครดิตอีก 2 ราย ที่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม (ESG )มาวิเคราะห์และคำนวณว่ามีมูลค่าเพิ่มอย่างไร และนำมาลงใน platform ผ่านเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ นับเป็นเรื่องที่มีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูล ESG สามารถจับต้องได้ พร้อมขอความร่วมมือ บจ.ไทยให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ตามมาตรฐานที่มีรูปแบบ เพื่อสามารถวิเคราะห์ได้ง่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียน แต่จะทำอย่างไรให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีความสนใจมากขึ้น
” ตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นเทคโนโลยี แต่เราสามารถนำจุดเด่นเรื่อง health care ,ด้านอาหาร และเรื่องความยั่งยืนของบจ.ไทยเป็นจุดขายนักลงทุนได้” นายภากรกล่าว
ปัจจุบันนักลงทุนไม่ได้มองเพียงเรื่องผลกำไรเหมือนในอดีต แต่จะพิจารณาว่า บจ.สามารถมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ต้องมีข้อมูลให้สามารถวิเคราะห์ได้ โดยในอดีตนักลงทุนรายย่อย จะให้ความสนใจเรื่องเงินปันผลมาก ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่อง ESG เหมือนนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศ แต่หลังเกิดโควิด-19 พบนักลงทุนรายย่อยเริ่มให้ความสำคัญกับคุณภาพเรื่องเกี่ยวกับ ESG มากขึ้น
” โลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น สิ่งที่นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญ บริษัทจดทะเบียนปรับตัวอย่างไร ปรับได้เร็วแค่ไหน เพื่อให้ได้รายได้และกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สิ่งที่อยากเห็นบริษัทมีความอึดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง สิ่งที่สำคัญ เรามีข้อมูลที่ให้นักลงทุนเห็นหรือยังว่า บริษัทหรือธุรกิจสามารถ Sustain ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ดังนั้น เรื่อง ESG ไม่ใช่เรื่อง nice to have แต่เป็นเรื่อง must have”นายภากรกล่าว
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูและตลาดทุนได้ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล (CG) และขยายมาเป็นการให้ความสำคัญกับ ESG ที่ตอบโจทย์กับสังคมยุคปัจจุบัน และเป็นเรื่องสำคัญในตลาดทุน และเป็นยุทธศาสตร์ของชาติด้วย
ก.ล.ต.มองว่า ESG ในมุมมองผู้กำกับ เน้นเรื่องความโปร่งใส เช่น การทำ One Report ที่จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2565 เปิดเผยข้อมูลชัดเจน นักลงทุนสามารถหยิบนำไปใช้ได้ เอกชนอยากเห็นการส่งเสริมการปิดเผยข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้
ในระดับอาเซียนมีโรดแมพ วางไว้ 4 ด้าน คือ การเปิดเผยข้อมูล การผลักดันผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เอกชนสามารถมีส่วนขับเคลื่อน เช่น บลจ.ออกกองทุน ESG Fund การสร้างความตระหนักรู้ ที่จะมีการจัดอบรมความรู้สร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องการให้นักลงทุนรายย่อยมองความยั่งยืนไปสู่ผลตอบแทน
ส่วนก.ล.ต.มอง ESG ไว้ 6 ด้านได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ เช่น Sustainable Finance ที่ได้รับการตอบรับด้วยการออกกรีนบอนด์, Social Impact Bond ปัจจุบันมีบริษัท 12 แห่ง ออกมูลค่ารวม 1 แสนล้านบาท รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้ (สบน.) ออก Sustainable Bond ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การเคหะแห่งชาติ ซึ่ง ก.ล.ต.ยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกบอนด์ และล่าสุดยกเว้นไปถึงปีหน้า
2. การเพิ่ม Local Reviewer ซึ่งจะมีรายที่ 2 หลังจากที่มี ทริสเรทติ้ง เป็นเจ้าเดียวขณะนี้ 3. Guideline ให้ บลจ.ที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงนักลงทุนรายย่อย4.Bulletin Platform เพื่อให้มี platform มาเปรียบเทียบข้อมูลให้ง่าย ซึ่งสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ทำอยู่แล้ว แต่มองว่าจะนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ของไทยโชว์ในตลาดต่างประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับตลาดทุนของลักซ์เซมเบอร์ เพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ของไทย
ส่วนเรื่องที่ 5.One Report ก.ล.ต. ยืนยันไม่ต้องการสร้างภาระให้ บจ.แต่ต้องการให้มีข้อมูลที่เปรียบเทียบได้ง่ายให้กับนักลงทุน โดยมี 10 บริษัทเป็นตัวอย่าง หลายบริษัทเริ่มดำเนินการก่อนที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 ม.ค. 2565 และ 6.ให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายย่อยซึ่งสิ่งนี้ผลักดันมาตลอด ให้ผู้แนะนำการลงทุนอบรมเรื่อง ESG ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน