JCKH คาดไตรมาส 4 พลิกกำไร เร่งส่งน้ำจิ้มสุกี้-บาบีคิวขยายตลาด

HoonSmart.cpm>> “เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้” เผยผลดำเนินงานเริ่มฟื้นไตรมาส 3/63 คาดโค้งสุดท้ายพลิกมีกำไร ยอดขายกลับรับช่วงเทศกาลวันหยุด เล็งส่งน้ำจิ้มสุกี้ บาบีคิว ร้าน Hotpot-Daidomon ลุยตลาดใหม่หลังชะลอช่วงโควิด ส่วนร้านใหม่ชะลอแผนลงทุนถึงปี 64

โชติวิทย์ เตชะอุบล

นายโชติวิทย์ เตชะอุบล กรรมการผู้จัดการบริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ (JCKH) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 7.6 ล้านบาท ลดลง 39.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ที่มีผลขาดทุน 46.8 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าในภาพรวมยอดขายของบริษัทยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid และกำลังซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จากที่บริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนอาหาร (Food Cost) ที่ลดจาก 48% เหลือ 41% ทำให้บริษัทมี EBITDA เป็นบวก และมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับใช้ในการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเป็นบวกได้ เนื่องจากในไตรมาสนี้ เป็นช่วงที่มีเทศกาลและวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่ายอดขายของบริษัทจะปรับตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จากที่บริษัทได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดน้ำซอสและเครื่องปรุงที่มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งน้ำจิ้มสุกี้ และบาบีคิว ของร้าน Hotpot และ Daidomon มีรสชาตถูกปากกลุ่มผู้บริโภคและเป็นจุดขายของบริษัทมายาวนาน บริษัทจึงมีแผนเร่งปรับปรุงและมุ่งเน้นการพัฒนาตลาดน้ำจิ้มสุกี้ และบาบีคิว โดยตั้งหน่วยขายขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงเพื่อเจาะตลาดผ่านช่องทาง Modern Trade และ ห้างสรรพสินค้า อย่างจริงจัง จากเดิมที่ช่วง Covid บริษัทได้หยุดทำกิจกรรมทางการตลาดไประยะหนึ่ง และเน้นขายผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียว

“หากตลาดน้ำจิ้มของบริษัทได้รับกระแสตอบรับที่ดี ในปี 2564 บริษัทมีแผนขยายไปยังตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง (Frozen Food) ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจและรสชาติอาหารให้ถูกปาก เพื่อให้ตอบสนองตรงกับความต้องการของผู้บริโภค” นายโชติวิทย์ กล่าว

ในขณะที่แผนการลงทุนร้านใหม่ในช่วงนี้จนถึงปีหน้าคงต้องชะลอการลงทุนไปก่อน แต่จะเน้นปรับปรุงและพัฒนาร้านเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีคุณภาพอาหารและการบริการที่ดียิ่งขึ้น ในส่วนการควบคุม Food Cost จะพยายามไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอาหาร แต่จะเน้นการจัดหาวัตถุดิบจากคู่ค้า (Supplier) ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการต่อรองราคาและเงื่อนไขทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมากที่สุด