HoonSmart.com>> “สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” เปิดผลสำรวจคะแนน CGR ประจำปี 63 บริษัทจดทะเบียนไทย 692 บริษัท คว้าคะแนนเฉลี่ย 83% ทำลายสถิติสูงสุดรอบ 20 ปี ยกระดับ CG ไทยเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจคะแนน CGR ประจำปี 2563 ของบจ.ไทย 692 บริษัท มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการประเมินคะแนน CGR ในปี 2544 โดยเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 82 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 (677 บริษัท) และพบว่า บจ. ไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งมีการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและบุคลากร ซึ่งเป็นไปตามหลักการใน CG Code และสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน
หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2563 พบว่าหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 94, 94, 87 และ 83 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ แม้จะยังได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 76 เปอร์เซ็นต์ แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
จากผลการสำรวจ ยังพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือได้สี่ดาวขึ้นไปรวม 486 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89 เปอร์เซ็นต์ (สี่ดาว) 246 บริษัท คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (ห้าดาว) 240 บริษัท คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทที่ทำการสำรวจ ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ห้าดาว เพิ่มขึ้นจาก 193 บริษัท ในปี 2562 เป็น 240 บริษัท ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 47 บริษัท คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์
นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าวว่า ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากผลการสำรวจในปีนี้ คือ บจ. ไทยมีผลการสำรวจคะแนน CGR ที่ดีขึ้น โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 20 ปีตั้งแต่มีการทำการประเมิน ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้นของบริษัทจดทะเบียนและความร่วมมือในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการเพื่อยกระดับการพัฒนา CG ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน โดยเฉพาะการที่บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการกำกับดูแลกิจการเพื่อช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
นางศิรินันท์ กิตติเวทางค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าวว่า “การกำกับดูแลกิจการในปัจจุบันมีความท้าทายในบริบทที่เปลี่ยนไป แนวโน้มการให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เกณฑ์ CGR มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนเพื่อเข้าใจหลักเกณฑ์ของ CGR ที่จะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัย และครอบคลุมเรื่อง ESG เพื่อสะท้อนการกำกับดูแลกิจการในมิติด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นบทบาทของ IOD ในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน”
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยมีบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นรากฐาน ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยความร่วมมือของ IOD ได้จัดทำและปรับปรุง CGR ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจมาโดยตลอด
นอกจากช่วยจะยกระดับคุณภาพการดำเนินงานภายในแล้ว CGR ยังมีความสอดคล้องกับยุคสมัยนี้ ที่กระแสการลงทุนของโลกให้ความสนใจสำคัญกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบัน ตลาดทุนไทยมีจำนวนกองทุน ESG มากถึง 29 กองทุน คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 26,000 ล้านบาท ในขณะที่กองทุน ESG ทั่วโลกมีมูลค่า AUM รวมเกือบ 30 ล้านล้านดอลล่าร์ ดังนั้นการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งในภารกิจการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”