OISHI กำไรงวดปี 1,070 ลบ. โควิดฉุดรายได้ ปันผล 0.94 บาท XD 9 ธ.ค.

HoonSmart.com>> “โออิชิ กรุ๊ป” เคาะจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นอัตรา 0.94 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD 9 ธ.ค. จ่ายเงิน 25 ก.พ.64 เปิดงบปีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลง 13% ผลกระทบโควิด-19 บันทึกรายการพิเศษค่าสินไหมทดแทนกรณีเพลิงไหม้สายผลิตเครื่องดื่ม คาดได้เงินชดเชยจากประกัน 400 ล้านบาทปี 64

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) เปิดเผยมติคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 และกำไรสะสม ในอัตราหุ้นละ 0.94 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 11 ธ.ค. 2563 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 9 ธ.ค. 2563 และจ่ายเงิน 25 ก.พ. 2564

ด้านผลการดำเนินงานงวดปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 กำไรสุทธิ 1,069.64 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.85 บาท ลดลง 13% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,234.45 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.29 บาท

บริษัทยังคงมีกำไรสุทธิภายใต้สถานการณ์ทางธุรกิจที่ท้าทาย โดยกำไรสุทธิรวมของบริษัทเท่ากับ 1,066 ล้านบาท ปรับตัวลง 13.3% หรือ 163 ล้านบาทจากรอบบัญชีปี 2562 หากไม่รวมรายการพิเศษ บริษัทจะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Profit) ที่ 773 ล้านบาทในรอบบัญชีปี 2563 ลดลง 38.2% หรือ 478 ล้านบาทจากปีก่อน รายได้จากการขายและให้บริการในรอบบัญชีปี 2563 รวมทั้งสิ้น 11,007 ล้านบาท ลดลง 19.2% หรือ 2,624 ล้านบาทจากปีก่อน

การลดลงของกำไรสุทธิรวมและกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติในปีงบประมาณ 2563 มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำไรของธุรกิจอาหาร ในขณะที่การควบคุมต้นทุนรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรอบบัญชีปี 2562

นอกจากนี้สายการผลิตเครื่องดื่มของบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในเดือนพ.ย.2560 โดยความเสียหายดังกล่าวได้รับการคุ้มครองโดยบริษัทประกันภัยทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินและธุรกิจหยุดชะงักทั้งจำนวนและในเดือนมี.ค.2563 บริษัทประกันได้สรุปค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Claim on propertiesdamaged) ดังกล่าว ส่งผลให้ในรอบบัญชีปี 2563 บริษัทได้ทำการบันทึกค่าสินไหมทดแทนสำหรับส่วนต่างของมูลค่าเปลี่ยนแทนสินทรัพย์กับมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ จำนวน 293 ล้านบาท โดยบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดเข้ามาในรอบบัญชีปี 2564 หลังจากค่าสินไหมทดแทนในกรณีธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Claim) จากบริษัทประกันภัยได้รับการสรุปเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะได้รับกระแสเงินสดชดเชยคืนในส่วนที่เหลือจากความเสียหายต่อทรัพย์สินและกรณีธุรกิจหยุดชะงักที่ 400 ล้านบาท โดยประมาณ

เมื่อเปรียบเทียบกับในรอบบัญชีปี 2562 บริษัทมีการบันทึกต้นทุนบริการในอดีตสำหรับผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานมูลค่า 22 ล้านบาท อันเกิดจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้าง 400 วัน สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและทำงานมาเกินกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในงบกำไรขาดทุน และไม่มีผลกระทบกับงบกระแสเงินสดเนื่องจากไม่ใช่รายการเงินสด