บลจ.ไทยพาณิชย์เสิร์ฟกองคอมเพล็กซ์ รีเทิร์น กำไรอิงหุ้นตลาดเกิดใหม่

HoonSmart.com>>บลจ.ไทยพาณิชย์ ต่อยอดกองทุนคอมเพล็กซ์ รีเทิร์น เห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เปิดตัวกองทุนใหม่ SCBCR1YJ อายุโครงการ 1 ปี เปิดขายครั้งเดียวระหว่าง 17-23 พ.ย.นี้

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้มองเห็นโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงต่อยอดนำเสนอขายในรูปแบบกองทุน คอมเพล็กซ์รีเทิร์น ซึ่งยังคงมีนักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกองทุนที่เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จากการลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อ้างอิงกับ MSCI Emerging Markets Index (USD) พร้อมโอกาสลดความเสี่ยงการขาดทุนของเงินต้นผ่านการเลือกลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพ

บริษัทฯ จึงได้นำเปิดเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ คอมเพล็กซ์รีเทิร์น 1YJ (SCB Complex Return 1YJ : SCBCR1YJ) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย กองทุนมีอายุ 1 ปี มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวระหว่างวันที่ 17 – 23 พ.ย.2563 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท

สำหรับกองทุนนี้มีกลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นําเงินต้นประมาณ 98% ของทรัพย์สินกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ขึ้นไป เมื่อครบกําหนดอายุกองทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนพร้อมโอกาสรับผลตอบแทนซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินต้น การลงทุนส่วนนี้มีความผันผวนต่ำช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าพอร์ตการลงทุนในส่วนนี้จะประกอบไปด้วย เงินฝากธนาคาร Doha Bank (DOHA) – กาตาร์, เงินฝากธนาคาร Bank of China (BOC) – จีน, เงินฝากธนาคาร The Commercial Bank (CBQ) – กาตาร์, เงินฝากธนาคาร Qatar National Bank (QNB) –กาตาร์, ตราสารหนี้ธนาคาร Malayan Banking Berhad (MAYBANK) – มาเลเซีย และตราสารหนี้ China Merchants Bank (CMB) – จีน ซึ่งกองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

ส่วนที่ 2 ประมาณ 2% ของทรัพย์สินกองทุน จะนำไปลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อิงกับผลตอบแทนของ MSCI Emerging Markets Index (USD) เน้นสร้างผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ผ่าน MSCI Emerging Markets Index (USD) ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งดัชนีประกอบด้วยหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จำนวน 26 ประเทศ ครอบคลุม 1,387 หุ้น หรือประมาณ 85% ของตลาดในแต่ละประเทศ โดยคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (free float-adjusted market capitalization)

สำหรับสัญญาวอแรนต์ดังกล่าวมีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนแบบ Shark fin ซึ่งเป็นส่วนสร้างผลตอบให้กับกองทุน โดยแบ่งการจ่ายผลตอบแทนเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 จ่ายผลตอบแทน 40% ของผลตอบแทนของดัชนี เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นระหว่าง 0 ถึง 15% กรณีที่ 2 จ่ายผลตอบแทนชดเชยประมาณ 0.25% เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นเกิน 15% ระหว่างอายุกองทุน และกรณีที่ 3 ไม่จ่ายผลตอบแทนหากดัชนีปรับตัวลงต่ำกว่าราคา ณ วันลงทุนเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน โดย MSCI Emerging Markets Index (USD) มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย -1.16% ต่อปี ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 10.54% ต่อปี ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 2.42% ต่อปี และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 8.97% ต่อปี (ที่มา: MSCI Emerging Markets Index (USD) ณ Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นับว่าสนใจมากในช่วงขณะนี้ เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกาใต้ หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี และเศรษฐกิจมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ายังมีความเสี่ยงด้านความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความผันผวนในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้และยุโรปตะวันออกจากนโยบายป้องกันการแพร่ระบาด และราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวนสูงอยู่ แต่ก็คาดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้นกองทุน SCBCR1YJ ที่มีรูปแบบการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับมีโอกาสได้รับผลตอบแทนชดเชยในระดับที่น่าสนใจหากตราสารทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาด จึงน่าจะตอบโจทย์นักลงทุนได้ในสภาวะการณ์เช่นนี้