GULF กำไรดำเนินงาน Q3/63 นิวไฮ ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 45-50%

HoonSmart.com>> “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” โชว์กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3/63 จำนวน 1,325 ล้านบาท ทุบสถิติใหม่ เติบโต 34% จากไตรมาสก่อน ปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัวกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก้อนโควิด-19 พร้อมตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโต 45-50%

ยุพาพิน วังวิวัฒน์

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 ปี 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 1,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้งจากกลุ่ม GMP และ GJP สามารถขายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 มีการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19

ประกอบกับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจาก 261.41 บาท / ล้านบีทียู ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 235.22 บาท / ล้านบีทียู ในไตรมาส 3 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสูงขึ้น จาก 23.1% ในไตรมาสก่อน เป็น 25.9% ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเวียดนาม ทั้ง 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563

นอกเหนือจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของโครงการที่กล่าวดังกล่าว ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ยังได้รับเงินปันผลเป็นจำนวนรวม 360 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 295 ล้านบาท, SPCG จำนวน 62 ล้านบาท และ EDL-Gen จำนวน 3 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ บันทึก core profit สูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ เท่ากับ 970 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จาก 31.0658 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น 31.8258 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสนี้ ซึ่งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด

เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน core profit ดีขึ้น 33% YoY ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากเงินปันผลที่ GULF ได้รับจากการไปลงทุนในหุ้นสามัญ INTUCH, SPCG และ EDL-Gen และผลประกอบการของกลุ่มโรงไฟฟ้า GJP ที่ดีขึ้น มาจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ของ 7 SPPs ที่เพิ่มขึ้นจาก 1,036 กิกะวัตต์-ชั่วโมงในไตรมาส 3 ปี 2562 เป็น 1,146 กิกะวัตต์-ชั่วโมงในไตรมาส 3 ปี 2563 นอกจากนี้ 7 SPPs ยังมีปริมาณการขายไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจาก 60,323 พันตันในไตรมาส 3 ปี 2562 เป็น 72,393 พันตันในไตรมาสเดียวกันปีนี้อีกด้วย ประกอบกับในไตรมาส 3 ปี 2562 ได้มีการหยุดซ่อมบำรุงรักษา (C-inspection) ของโรงไฟฟ้า SPP ในกลุ่ม GJP จำนวน 3 โรง ได้แก่ โครงการ GKP2, GNLL และ GNK2 ในขณะที่ในไตรมาส 3 ปีนี้ มีโรงไฟฟ้า SPP ภายใต้กลุ่ม GMP 1 โรง ได้แก่ โครงการ GTS2 ที่มีการหยุดซ่อมบำรุง (B-inspection) เป็นเวลา 17 วัน

น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวว่า ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) จำนวน 32,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) ลดลงเหลือ 1.35 เท่าในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ศักยภาพในการขยายการลงทุนและขยายธุรกิจในอนาคตได้อีกประมาณ 100,000 – 110,000 ล้านบาท ซึ่ง GULF ยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจไปภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ในทวีปยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งโครงการ Greenfield และโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว รวมถึงการเข้าซื้อกิจการใหม่ ๆ โดยจะเน้นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อที่จะได้รับรู้รายได้และกำไรเข้ามาในงบการเงินทันที

นอกจากนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) เท่ากับ 2,959 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับ 2,701 เมกะวัตต์ในไตรมาส 3 ปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 258 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG ในเดือนมีนาคม 2563 และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี (กำลังการผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์) ซึ่งได้โอนหุ้นไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 และจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไรเต็มไตรมาสในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวประมาณ 6,000 ล้านบาท

ในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่ารายได้จะเติบโตประมาณ 45% – 50% โดยหลัก ๆ มาจากโครงการ BKR2 และการเปิดดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้า IPP ได้แก่ GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์