HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ มองโอกาสดีกระจายลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ลดความผันผวนพอร์ตโดยรวม ชูกองทุน “ไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP)” เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนด้วยกลยุทธ์ลงทุนเชิงรุก
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในขณะนี้ว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนค่อนข้างรุนแรงซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าของเงินลงทุน หรือราคาของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งระยะสั้น กลาง และยาวที่ปรับตัวลดลงโดยพร้อมเพรียงกัน สาเหตุหลักเกิดจากความกังวลจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะ risk-off และนักลงทุนต่างเทขายตราสารหนี้อย่างตื่นตระหนกในทุกราคา (panic sell) เพื่อถือเงินสดในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ด้วยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายของการระบาดของ COVID-19 จึงทำให้นักลงทุนคลายความกังวลได้มากขึ้น
“บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่าปีนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน แต่แนะนำให้นักลงทุนทำการลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยแนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนด้วยกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
กองทุนที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์การลงทุนดังกล่าว ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) เน้นลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ และให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในและ/หรือต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการเงินและหรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ และลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มีการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น กองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) และลดความเสี่ยงและ/หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อีกทั้งกองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Short Term Bond ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)
สำหรับกองทุน SCBFP มีกระบวนการลงทุนด้วยการบริหารเชิงรุก ผสานแนวการลงทุนแบบดั้งเดิม ประกอบกับการใช้ Machine Learning & AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยการผสานมุมมองมหภาคและการคัดเสือกตราสารหนี้รายตัว การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลเชิงปริมาณ รวมถึงกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนและมีผลตอบแทนที่หลากหลาย
กองทุนมีกลยุทธ์การสร้างคุณค่าเพิ่มด้วยวิธีการดังนี้ 1) Quality – คัดเลือกตราสารหนี้คุณภาพดีโดยทีมนักวิเคราะห์ที่ติดตามข้อมูลของบริษัทผู้ออก รวมถึงข้อมูลทางการเงินและภาพรวมอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงด้าน credit default และ rating downgrade 2) Valuation – เลือกลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อสร้าง valuation premium พร้อมทั้งทำ Rich-Cheap valuation เพื่อหาโอกาสซื้อ undervalued bond และขายหลักทรัพย์ที่ราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง 3) Liquidity – เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องเพียงพอ และ 4) Bargaining Power – ใช้ประโยชน์จากอำนาจต่อรองกับคู่ค้าเพื่อให้ซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในราคาที่ดีที่สุด
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับความรุนแรงของการแพร่ระบาด COVID-19 ในต่างประเทศ ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศมีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนเริ่มทรงตัวและธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 0.50% กองทุน SCBFP จึงตอบโจทย์การลงทุนเพื่อโอกาสลดความผันผวนระยะสั้นและเพิ่มเสถียรภาพของพอร์ตโดยรวม