HoonSmart.com>>นักลงทุนจุก! เสี่ยงสูงโดยคาดไม่ถึง เพราะจู่ๆบริษัท ราชกรุ๊ป (RATCH) ก็กลายพันธุ์เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างการหาทางออก แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หากปลดล็อกไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนเป็นอย่างมากในอนาคต แต่ที่น่าตกใจเห็นจะเป็นธนาคารกรุงไทย (KTB) เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ “พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ” ต่อไปไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐอีกแล้ว จะต้องทำธุรกิจแข่งกับธนาคารพาณิชย์ทั่วๆไป จะไหวไหม…
บริษัท ราชกรุ๊ป (RATCH) มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นใหญ่ที่สุดถึง 45% ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็คาดไม่ถึงว่าสำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นจนถือเกิน 5% รวมกันมากกว่า 50 % เชื่อว่าผู้บริหาร RATCH กำลังหาแนวทางการแก้ไขอยู่ หากยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน โดยเฉพาะการร่วมประมูลงานกับภาครัฐเป็นอย่างมาก เชื่อว่าจะมีทางออก แต่จะออกมาในรูปแบบใด
หนึ่งในทางเลือกที่ดี คือ กฟผ.ตัดสินใจลดสัดส่วนการถือหุ้นลง และขายบิ๊กล็อตให้นักลงทุนสถาบัน ถือเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทราชกรุ๊ป เป็นรัฐวิสาหกิจง่ายๆอีกต่อไป และเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของราคาหุ้น แต่คงต้องศึกษาให้ดีก่อนว่ากฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจจะขายหุ้นบริษัท ราชกรุ๊ป ออกไปได้ง่ายๆหรือไม่
ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง อาจจะต้องตีความ “คำจำกัดความของรัฐวิสาหกิจ” กรณีสำนักงานประกันสังคม ที่ทำหน้าที่ในการบริหารเงินของกองทุนประกันสังคม มีการซื้อและขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตามปกติ จะเข้าข่ายว่าเป็นการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจหรือไม่
เชื่อว่า ปัญหานี้ยังต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ไข หากยังไม่ชัดเจน ในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น RATCH ก็เป็นไปได้สูง นักลงทุนต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นตัวนี้
แต่ที่แน่ๆ วันที่ 9 พ.ย.นี้หุ้น KTB คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้น แม้ว่ามีกระแสข่าวการตีความเรื่องคุณสมบัติมานานพอสมควรแล้วก็ตาม แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 2563 มีความชัดเจนว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลกระทบต่อกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานด้วย เพราะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ถือหุ้นถึง 55% ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯแจ้งให้ธนาคารทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทยไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารอาจมีผลต่อการดำนินธุรกิจ และต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว จะแจ้งให้ตลาดทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารจนได้ข้อยุติว่าโดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518
สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่น ๆ ธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน
“ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจมานานกว่า 30 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างๆ ส่งผ่านเงิน ส่งความช่วยเหลือถึงมือประชาชน จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ทำให้ธนาคารได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมจำนวนมาก อีกทั้งหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจยังมีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินต่ำ จากการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประจำต่ำกว่าบุคคลทั่วไป เช่น ประเภท 3 เดือน บุคคลทั่วไปได้รับ 0.375 % ต่อปี และ 6 เดือน อัตรา 0.50% สำหรับราชการและรัฐวิสาหกิจได้ 0.25% เท่ากับนิติบุคคล ส่วนฝากประจำ 12-24 เดือน บุคคลทั่วไปได้ 0.50 % ราชการและรัฐวิสาหกิจรับเพียง 0.375%”
เพื่อประคับประคองรายได้และกำไร ธนาคารกรุงไทยจะต้องดูแลไม่ให้เงินฝากส่วนนี้ไหลออกไปอย่างรวดเร็ว และเร่งหารายได้เพิ่มจากช่องทางใหม่ๆ เพราะไม่ได้เป็นเสือนอนกินอีกต่อไปแล้ว