JVC เผยใช้เงิน 660 ล้านบาท จากการระดมทุน JFin Coin เข้าพัฒนาระบบ Jfin DDLP แล้ว คาดเฟสแรกแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปีนี้ มั่นใจขยายฐานลูกค้าปล่อยกู้เป็น 28 ล้านราย จากปัจจุบัน 7 ล้านราย
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส หรือ JVC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เจมาร์ท หรือ JMART เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้นำเงินที่ได้จากกระดมทุนผ่าน JFin Coin จำนวน 100 ล้านโทเคน คิดเป็นเงิน 660 ล้านบาท มาเริ่มต้นพัฒนาระบบการให้สินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Digital Lending Platform : DDLP) หรือ ระบบการให้กู้ยืมเงินดิจิทัลบนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง ในระยะแรกแล้ว โดยระบบ Jfin DDLP จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 และพัฒนาสมบูรณ์ทั้งระบบในช่วงปลายปี 2562
ทั้งนี้ ระบบ Jfin DDLP เป็นระบบที่รองรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัลแบบครบวงจร ตั้งแต่การระบุตัวตน (KYC) กระเป๋าเงินอิเล็ทรอนิกส์ การประเมินเครดิตสินเชื่อที่มีความแม่นยำ การอนุมัติสินเชื่อ และการติดตามหนี้สิน รวมถึงรองรับระบบ P2P Lending หรือระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้ผู้กู้ที่มีศักยภาพสามารถกู้เงินโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่สำคัญระบบดังกล่าวจะถูกนำมาใช้สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มบริษัท JMART ซึ่งมีฐานลูกค้า 7 ล้านราย ในขณะที่ JVC ผู้พัฒนาระบบจะได้รับค่าตอบแทนในรูปค่าธรรมเนียมจากการให้บริการระบบ Jfin DDLP
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทในกลุ่ม JMART บางแห่งได้นำระบบ Jfin DDLP ไปทดลองปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าโดยตรงแล้ว โดยเสนอวงเงินสินเชื่อให้ลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ วงเงินตั้งแต่ 500-2,500 บาท ในขณะเดียวกัน ระบบ Jfin DDLP จะเก็บข้อมูลของลูกค้าและนำไปพัฒนาระบบการประเมินการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพต่อไป คือ ให้สินเชื่อตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าและมีระบบประเมินเครดิตที่แม่นยำเพื่อทำให้มีหนี้เสีย (NPL) น้อยที่สุด และในเร็วๆนี้ บริษัทในเครือ JMART จะขยายฐานลูกค้าที่จะปล่อยสินเชื่อโดยตรงไปยังกลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆและกลุ่มที่ต้องการใช้เงินด่วน
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่บริษัทในกลุ่ม JMART จะเสนอวงเงินและปล่อยสินเชื่อในระยะต่อไป จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระและผู้ที่ไปกู้เงินนอกระบบ เช่น ผู้รับเหมา คนขับรถแท็กซี่ คนร้อนเงินที่ต้องการสินเชื่อเงินสด คนที่โดนตัดน้ำตัดไฟ กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าของ JMART และ Singer รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่อยากท่องเที่ยว และอยากทำศัลยกรรม โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราปล่อยสินเชื่อแล้วมีหนี้เสียน้อยที่สุด คือ เราจะต้องทราบแหล่งที่มารายได้และพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของเขาผ่านการเก็บข้อมูลและการประเมินเครดิตที่แม่นยำ โดยไม่ต้องนำสลิปเงินเดือนยืนยัน”นายธนวัฒน์กล่าว
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า การนำระบบ Jfin DDLP มาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าโดยตรง นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในกลุ่ม JMART แล้ว ยังจะทำให้ฐานลูกค้าของบริษัทในกลุ่ม JMART มีทั้งลูกหนี้ในระบบและลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 28 ล้านคน
สำหรับผลตอบแทนในส่วนของผู้ซื้อเหรียญ JFin Coin ไปแล้วกว่า 2,000 ราย นั้น หลังจาก JVC มีกำไรจากการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการระบบ DDLP ทางบริษัทจะจัดสรรผลตอบแทนให้ในรูปแบบของเหรียญ JFin Coin เท่านั้น โดยจะไม่มีการจ่ายเป็นเงินหรือให้ผลตอบแทนในรูปแบบอย่างอื่นๆ แต่ผู้ที่ถือเหรียญ JFin Coin สามารถนำเหรียญเข้าไปซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.เป็นต้นไป โดยเริ่มที่ตลาด BX และอาจจะได้กำไรจากส่วนต่างราคา
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท JMART กล่าวว่า การนำระบบ Jfin DDLP มาใช้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่ม JMART ได้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2562 และ 2563 เป็นต้นไป แต่จะเริ่มต้นปล่อยสินเชื่อโดยตรงให้กับกลุ่มอาชีพใดก่อนยังอยู่ระหว่างพิจ่ารณา ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรลดลง แม้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากต้องมีการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ IFRS9 ส่วนไตรมาสที่ 2 ทุกอย่างน่าจะกลับมาดี แต่ทั้งปีคาดว่ากำไรของบริษัทจะไม่เติบโตจากปีที่แล้วที่มีกำไร 490 ล้านบาท