กลุ่มปตท.พุ่งแรงวันเดียว 8.5 หมื่นลบ. คาดเด้งสั้นได้น้ำมันรีบาวด์-ราคาหุ้นต่ำ

HoonSmart.com>> แรงซื้อพุ่งเป้าครอบครัวปตท. วันเดียวมาร์เก็ตแคปทะยานถึง 85,750 ล้านบาท จากราคาหุ้นลงมาลึก ราคาน้ำมันดิบดีดกลับ ส่วนต่างราคาปิโตรเคมีดีขึ้น หนุนหุ้นไทยบวกแรงกว่า 1.59% ตามตลาดต่างประเทศ สถาบันซื้อหนักสุด 3,382 ล้านบาท นักวิเคราะห์คาดกลุ่มพลังงานไปไม่ไกล  บล.โนมูระฯ-บัวหลวงแนะนำซื้อ TOP  ส่วนปตท.สผ. ลั่นปี 64 ดีขึ้น ปริมาณขายมากกว่า 350,000 บาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันเคลื่อนไหว 40-45 ดอลลาร์ ลดต้นทุนต่อหน่วยลงอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 3 พ.ย. ตลาดหุ้นไทยร้อนแรงเกินคาด ดัชนีปิดที่ระดับเกือบสูงสุด 1,221.33 จุด พุ่งขึ้น 19.17 จุดหรือ+1.59% แต่มูลค่าการซื้อขายเบาบาง 50,169.98 ล้านบาท แรงซื้อหนักๆมาจากสถาบันไทยมากถึง 3,382 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังขายอีก 2,248 ล้านบาท โดยบล.บัวหลวง รายงานว่าเงินไหลออกจากตลาด TIP ต่อเนื่องเป็นสัปดาที่ 21 แต่เริ่มมีแรงซื้อในตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศได้สัญญาณบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน และสหรัฐ และยุโรปดีเกินคาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและส่วนต่างราคาปิโตรเคมีดีขึ้น จึงมีแรงซื้อเข้ากลุ่มพลังงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาหุ้นยังขึ้นมาไม่มากและแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3 จะดีขึ้น โรงกลั่นไม่มีขาดทุนสต็อก ทำให้หุ้นกลุ่มปตท.ทั้งหมด 6 บริษัทปรับตัวขึ้นแรง โดยบริษัท (PTT) เพิ่มขึ้น 5.65% ราคาปิดที่ 32.75 บาท ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปเพิ่มมากถึง 49,985 ล้านบาท  PTTGC บวกแรง 7.05% เพิ่มมูลค่ากิจการ 12,399 ล้านบาท  PTTEP  เพิ่มจำนวน 10,917  ล้านบาท  GPSC  เพิ่มขึ้น 7,754 ล้านบาท TOPเพิ่มจำนวน  3,060 ล้านบาทและ IRPC  มาร์เก็ตแคปโตขึ้น 1,635 ล้านบาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน คงคำแนะนำ Bullish กลุ่มพลังงาน เลือก PTT, TOP เป็น top pick คาดแรงกดดันมากสุดของโควิด-19 ผ่านไปแล้วในครึ่งปีแรก สะท้อนจากการฟื้นตัวของการบริโภคปิโตรเลียมทั่วโลก ตั้งแต่เดือน พ.ค. หนุนภาพการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ, ส่วนต่างปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จากความต้องการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้ถึงปี 2564 ทำให้กำไรปกติของกลุ่มฟื้นตาม

แนวโน้มไตรมาส 4 คาดกลุ่มโรงกลั่น เด่นกว่า ปิโตรเคมี จากค่าการกลั่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานต่ำ ตามการฟื้นตัวของความต้องการและแรงกดดันจากคลังน้ำมันทั่วโลกที่ลดลง ส่วนปิโตรเคมี คาดแย่ลงนำโดยอะโรเมติกส์ ตามด้วย integrated PET และโอเลฟินส์ ที่มีแรงกดดันจาก oversupply ส่วนกลุ่มต้นน้ำคาดได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบหลังผ่านช่วงผันผวนเลือกตั้งสหรัฐ

บล.โนมูระ พัฒนสินให้ราคาเป้าหมาย TOP ที่ 56 บาท คาดกำไรปกติไตรมาส 3 อยู่ที่ 1,292 ล้านบาท พลิกกำไรจากช่วงเดียวกันปีก่อนและดีขึ้นมากจากไตรมาส 2 จากกำไรสต็อกเป็นหลัก ส่วนไตรมาส 4 กำไรโดดเด่นจากการขาย GPSC และกำไรปกติไตรมาส 4 และปี 2564 เติบโตต่อจากการฟื้นตัวของสเปรดปิโตรเลียม ขณะที่ราคายังอยู่ในโซนต่ำ สามารถเก็งกำไรได้ โดยซื้อขาย P/BV 0.6 เท่า

ด้านบล.บัวหลวงแนะนำซื้อ TOP และ IVL แม้คาดว่าบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)กำไรหลักในไตรมาส 3 จะอ่อนตัวจากช่วงโลว์ซีซั่น แต่มีแนวโน้มเติบโตและขยายตัวต่อได้ในไตรมาส 4 อีกทั้งมูลค่าหุ้นยังไม่แพงแนะเล่นล่วงหน้าไปยังไตรมาสที่แข็งแกร่งกว่านี้

นางชนมาศ ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ. (PTTEP) กล่าวว่า แนวโน้มปี 2564  คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยมากกว่า 350,000 บาร์เรลต่อวัน ซี่งเป็นเป้าของปี 2563 จากการเริ่มผลิตในเฟส 1 ของโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ (HBR) ที่แอลจีเรีย  โดยมีกำลังการผลิต อยู่ที่ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน และเฟส 2  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50,000-60,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2568

ส่วนโครงการ Sabah H ที่มาเลเซีย จะเข้ามาหนุนปริมาณขายด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตในช่วงแรก 6,000-8,000 KBD จากกำลังสูงสุดที่ทำได้ที่ 20,000 KBD ต่อปี คาดจะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือ 2 ซึ่งเลื่อนจากแผนเดิม  ส่วนโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ดำเนินการ เพื่อขอเข้าไปติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลให้ได้ตามแผน และโครงการจี 2/61 (บงกช) ได้เริ่มดําเนินการตามแผนดําเนินงานในช่วงเตรียมการ   เพื่อให้ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในปริมาณขั้นต่ำรวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2565-2566 สำหรับโครงการ Gas To Power ประเทศเมียนมา กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์  จำหน่ายแก๊สเข้าไปยังโรงไฟฟ้า คาดว่ารัฐบาลเมียนมาจะอนุมัติในปีนี้

สำหรับราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 4 และในปีหน้า คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล  ส่วนราคาแก๊ส LNG เฉลี่ยของปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 6.3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู  ขณะเดียวกัน บริษัทฯคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีนี้  หลังจากลดรายจ่ายจากแผนการลงทุนเดิมได้มากกว่า 16% จากประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และจะทยอยลดต้นทุนต่อหน่วยไปต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2573  คาดต้นทุนต่อหน่วยจะลดลงเหลือที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล