SCBAM : “จับตาผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ”

๐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยผลการเลือกตั้งอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในอาทิตย์หน้าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรและมีความเป็นได้มากน้อยแค่ไหนกับการอนุมัติออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในระลอกที่สองทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปโดยเฉพาะสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะนี้

๐ ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ยุโรปปรับตัวลดลงเข้าสู่เกณฑ์หดตัวอีกครั้ง โดยดัชนีรวมเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 จุด เป็นระดับ 55.5 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.4 จุด เป็น 56.0 จุด ขณะเดียวกันดัชนีรวมของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 จุด เป็นระดับที่ 46.7 จุด ขณะที่ยุโรปการกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดในหลายพื้นที่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เร่งตัวขึ้นนับเป็นปัจจัยที่กดดันภาคบริการ ทำให้ดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวลดลงถึง
-1.0 จุด สู่ระดับที่ 49.4 จุด

๐ ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมพร้อมทั้งยังส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการเงินต่อไป โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมและยังคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE พิเศษ (PEPP) ที่วงเงิน 1.350 ล้านล้านยูโร โดยระบุจะเข้าซื้อจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2021 เป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย ขณะเดียวกันธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบื้อไว้ที่ -0.1% และคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs ต่อปีที่ 12 ล้านล้านเยนและ1.8 แสนล้านเยนตามลำดับ

๐ ตัวเลขการส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และมาตรการ Lockdown อย่างไรก็ตามตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย. ล่าสุดอยู่ที่ระดับ -3.9% YoY ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ -7.9%YoY โดยสินค้าที่ส่งออกได้ดีคือ ผลิตภัณฑ์ยางสินค้านำโดยถุงมือยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

๐ ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. ของ ญี่ปุ่นพลิกกลับมาหดตัว โดยยอดค้าปลีกหดตัวเพิ่มขึ้นแรง -8.7% YoY แย่ลงจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ -1.9%YoY ซึ่งอาจเป็นผลจากฐานที่สูงจากผลของการเร่งใช้จ่ายในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษี VAT ในเดือน ต.ค. 2019