ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเฟดคงดอกเบี้ยประชุม 4-5 พ.ย.จับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาด “เฟด” คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุม 4-5 พ.ย. นี้ จับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลต่อทิศทางนโยบายในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 4-5 พ.ย.นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นลดลง อีกทั้งเฟดมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 ดังนั้น เฟดน่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% และไม่น่ามีการออกนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน ก่อนการประชุมนโยบายการเงินเพียง 1 วัน ดังนั้น เฟดมีแนวโน้มที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในการประชุมนโยบายเงินครั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของนโยบายการคลังและการเงินในระยะข้างหน้า โดยหากไบเดนชนะการเลือกตั้งและพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา จะส่งผลให้พรรคเดโมแครตสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้โดยง่าย แนวโน้มขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งอาจหนุนให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ เร่งสูงขึ้นในระยะข้างหน้า อันจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ของเฟด

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเฟดจะยังไม่ลดระดับการผ่อนคลายทางการเงินและปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะในจังหวะเวลาช่วงต้นปีหน้า ทั้งประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่ระบาดหนักขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการฟ้องร้องกันจนทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไป ตลอดจนการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รอบใหม่ที่ยังไม่สามารถออกมาได้

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาพร้อมๆ กัน จะส่งผลให้แรงกดดันกลับมาอยู่ที่เฟดในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้