SCGP จ่อเข้า MSCI 10 พ.ย. โนมูระตีค่า 38.4 บาทหนุน SCC

HoonSmart.com>>”เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” นิ่งวันแรก ซ้ำรอยหุ้น AWC-CRC มาร์เก็ตแคป 148,874 ล้านบาท กระโดดเข้า SET 50 วันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่ปรึกษาคาดจ่อเข้า MSCI Index รอบ10 พ.ย.นี้ โนมูระ พัฒนสิน ตีราคา 38.40 บาท ทุกการเปลี่ยนแปลง 1 บาท มีผลต่อหุ้นแม่ 4 บาท/หุ้น คาดกำไรปีหน้าโต ชู 5 ปัจจัยหนุน บริษัทคืนหนี้ตัวเบา คุยต้นทุนเงินต่ำกว่า 2% กลยุทธ์วิ่งเข้าเป้าผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันแรก (22 ต.ค. ) ราคาเปิดที่ 37 บาท เหนือจอง 5.71% ก่อนปิดเท่าราคา IPO ที่ 35 บาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 148,874.25 ล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 1 แสนล้านบาทที่เข้าซื้อขายก่อนหน้านี้ ราคาวันแรกก็เคลื่อนไหวแคบๆ คือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป(AWC) เปิดเท่าจอง 6 บาทปิด 6.05 บาท และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เปิด 42 บาท ปิด 41.75 บาท

ตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า SCGP เข้าคำนวณดัชนี SET 50 มีผลวันที่ 28 ต.ค.นี้

น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า นักลงทุนสถาบันจะเข้ามาลงทุนหุ้น SCGP เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังจะเข้าดัชนี SET50 และยังมีโอกาสที่จะเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Index รอบการคำนวณใหม่ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ตามเกณฑ์มาร์เก็ตแคปและอัตราส่วนสภาพคล่องของหุ้น แต่ยังต้องรอดูปริมาณการซื้อขายว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่

“หุ้น SCGP เป็นบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและมีผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริการอย่างครบวงจร สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นหุ้นที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจอย่างมาก” น.ส.วีณา กล่าว

บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินมาร์เก็ตแคปที่เหมาะสมของ SCGP ผ่านประมาณการของ บริษัทแม่ คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) อยู่ที่ราว 1.7 แสนล้านบาท หรือราว 38.4 บาท/หุ้น (ยังไม่รวม upside จากการขยายกำลังการผลิต ประมาณ 5.8 บาท/หุ้น) โดยคงมุมมอง SCGP น่าสนใจ  คาดธุรกิจและกำไรปี 2564 ฟื้นตัวจากฐานต่ำในปี นี้ ที่มีผลกระทบโควิด-19 และได้การขยายกำลังการผลิตหนุน

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้งสามารถเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว จาก 5 ปัจจัยคือ 1.การเติบโตของกลุ่มอีคอมเมิร์ซ 2.โตตามเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งส่วนของ Packaging paper และ PPP ที่บริษัทเป็นเบอร์ 1 โดยเฉพาะ PPP ที่ยังขยายตัวได้อีกมาก 3.การเติบโตจากโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการขยายตัวแนวดิ่งในตลาดต่างประเทศ อาศัยจุดแข็งและทำซ้ำจากความสำเร็จในประเทศ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพหลังควบรวมบริษัท Fajar และ Visy Packaging Thailand และ5.ดอกเบี้ยจ่ายที่จะลดลงจากการใช้คืนเงินกู้หลังจากได้รับเงินจาก IPO

“ประเมินหากราคา SCGP สูง/ต่ำกว่า 38.40 บาท/หุ้น ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง 1 บาท จะมีผลต่อหุ้น SCC ประมาณ 4 บาท หรือ 1%”บล.โนมูระ พัฒนสินระบุ

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า SCGP ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และบริษัทฯที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้มีน้อยในตลาดหุ้นไทย จึงทำให้นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ และกำลังเข้าดัชนี SET50 จึงเป็นหุ้นยั่งยืนที่นักลงทุนสถาบันจะถือในระยะยาว

ด้านนายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า บริษัทฯระดมทุนได้ประมาณ 45,000 ล้านบาท จะนำเงินประมาณ  10,000 ล้านบาทชำระหนี้ จากหนี้ทั้งหมด 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสกุลเงินบาทประมาณ 80% และสกุลเงินต่างประเทศอีกประมาณ 20% ลดอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E Ratio) เหลือ 0.5 เท่า จากเดิม 0.9 เท่า รวมถึงยังมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยโดยรวมที่ต่ำกว่า 2% ต่อปี ถ้าหากในอนาคตมีความจำเป็นต้องใช้เงิน บริษัทก็มีศักยภาพในการหาทุนเพิ่มสำหรับการลงทุน

นอกจากนี้จะใช้เงินประมาณ 27,000 ล้านบาท ในการขยายธุรกิจในระยะสั้น และกลาง ซึ่งในปี 2563-2564 บริษัทฯได้ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในประเทศเวียดนามและไทย และขยายกำลังกระดาษบรรจุภัณฑ์การผลิตในประเทศอินโดนีเชียและฟิลิปปินส์ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8,200 ล้านบาท รวมถึงการควบรวมกิจการ ปัจจุบันกำลังเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจในบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปี 2563 นี้ และ ยังมองหาโอกาสในการขยายกำลังการผลิตและควบรวมกิจการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในการเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในอาเซียน