HoonSmart.com>>”เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าธปท.เปิดตัวกับสื่อครั้งแรก คาด GDP ปีนี้หดตัว 7.8-8% รอกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาปกติก่อนโควิดไตรมาส 3/65 ทำใจปัญหาต้องใช้เวลาดูแล ยันต้องแก้ตรงจุด มี 5 โจทย์ใหญ่ คือ แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน-เศรษฐกิจมหภาค สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ธปท. สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย เล็งเปิดช่องให้เงินไหลออกไปลงทุนมากขึ้น ลเงินบาทแข็งค่า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในโอกาสพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 20 ต.ค. 63 คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 2563 จะติดลบราว -7.8% ถึง -8.0% และจะยังคงติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 4 ไปถึงต้นปี 2564 ก่อนจะพลิกฟื้นเป็นบวกในไตรมาส 2 ปีหน้า แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในไตรมาส 3/2565 โดยมองว่าการแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาและอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพื่อให้มาตรการที่จะออกมาสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบออกมา
ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.มี 5 โจทย์ใหญ่ในการดูแล ได้แก่ 1) แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืนให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 และฟื้นตัวได้ 2) รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3) รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไปได้ดี 4) สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด และ 5) พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท.เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
ส่วนการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การตัดสินใจจะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้าน เพราะปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินมีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 85% ตามทิศทางค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากปัจจัยในประเทศ แต่เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างก็เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเช่นกัน เพราะมีวิธีบริหารจัดการ recycle เงินให้กลับออกไปต่างประเทศ จึงต้องหาวิธีที่ทำให้เงินออกไปข้างนอก ให้นักลงทุนไทยทั้งสถาบันและรายย่อยนำเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งของประเทศไทยยังน้อยมาก แนวทางก็คงต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง
ส่วนนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มีช่องจำกัด ดังนั้นในช่วงนี้บทบาทของมาตรการทางการคลังคงจะต้องเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ ธปท.คำนึงถึงคือจะต้องให้เรื่องของดอกเบี้ย สภาพคล่องทางการเงิน และสภาวะตลาดเงินโดยรวม ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย