KKP ไตรมาส 3/63 กำไร 1.35 พันลบ. ลด 16%

HoonSmart.com>> “ธนาคารเกียรตินาคินภัทร” ไตรมาส 3/63 กำไร 1.35 พันล้านบาท ลดลง 16.3% จากงวดปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 13.7% ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวเศรษฐกิจ ส่วน 9 เดือนกำไร 4 พันล้านบาท ลดลง 6.8%

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 มีกำไรสุทธิ 1,346.93 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.59 บาท ลดลง 16.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 1,609.89 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.90 บาท

ส่วน 9 เดือน ปี 2563 กำไรสุทธิ 4,015.19 ลานบาท กำไรต่อหุ้น 4.74 บาท ลดลง 6.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,308.62 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.09 บาท

ในงวดไตรมาส 3/2563 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13.7% จากไตรมาส 2/2563 แต่ลดลง 16.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมตามหลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้สำหรับไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 13.2% โดยรายไดด้อกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยหลักจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับลดลงตามการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 26.9% จากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2563 มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 1,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 172.5% หากเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าจำนวน 373 ล้านบาทในไตรมาส 3/2562 โดยจำนวนสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาอย่างระมัดระวังถึงปัจจัยต่างๆ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงรวมถึงความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินเชื่อในระยะต่อไป

ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือในการพักชำระหนี้ที่ส่งผลให้การปรับชั้นหนี้ภายใต้มาตรการอาจไม่ได้สะท้อนคุณภาพสินเชื่อ และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่แท้จริงอย่างเต็มที่ ธนาคารจึงได้มีการตั้งสำรองพิเศษ เป็นจำนวน 998 ล้านบาท เพิ่มเติมจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คำนวณได้ตามโมเดลการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 152.6% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 110.1% ในไตรมาส 3/2562

สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและรายการขาดทุนจากการขายรถยึด ไม่รวมการปรับสำรองส่วนเกินสำหรับไตรมาส 3/2563 คิดเป็น 1.94% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.51% ในไตรมาส 3/2562

ด้านสินเชื่อจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของสินเชื่อและมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและมีคุณภาพสินเชื่อที่ดีโดยสินเชื่อของธนาคาร ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 ขยายตัว 8.2% จากสิ้นปี 2562 โดยหลักมาจากการขยายตัวในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้จากสิ้นปี รวมถึงการขยายตวัของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบรรษัท

ในด้านคุณภาพของสินเชื่ออัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ 2.9% ปรับลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 4.0% จากการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของธนาคาร และบางส่วนเกิดจากการที่ลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตการช่วยเหลือส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้ระยะเวลาพักชำระหนี้ ซึ่งส่งผลในการชะลอการจัดชั้นหนี้สำหรับลูกค้าในส่วนนี้ตามเกณฑ์ภายใต้มาตรการช่วยเหลือภายใต้มาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้ระยะเวลาพักชำระหนี้ ซึ่งส่งผลในการชะลอการจัดชั้นหนี้สำหรับลูกค้าในส่วนนี้ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนธุรกิจตลาดทุน ด้านบล.เกียรตินาคินภัทร มีส่วนแบ่งตลาดในไตรมาส 3/63 ที่ 11.91% เป็นอันดับที่ 1 จากจำนวนบล.ทั้งหมด 38 แห่ง มีรายได้ค่านายหน้า 338 ล้านบาท ส่วนรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ จำนวน 20 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ที่ปรึกษาทางการเงิน 3 ล้านบาท รายได้การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 15 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ 2 ล้านบาท