หุ้น Technology ยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่

โดย…มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
https://www.morningstarthailand.com/th/

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพัฒนาการทางเทคโนโลยีมีบทบาทกับการดำเนินชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่น อุปกรณ์การสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากในชีวิตประจำวัน ที่ต้องประกอบด้วยแอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ การเกิดขึ้นของการแพร่ระบาด Covid-19 ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าเดิม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี outperform ตลาดโดยรวมค่อนข้างมากในปีนี้

จนอาจเกิดคำถามว่าหุ้นกลุ่มนี้เข้าสู่ภาวะฟองสบู่หรือไม่ ซึ่งก็อาจตอบได้ยากเพราะด้วยพื้นฐานของธุรกิจเองยังถือว่ามีการเติบโตได้อีกในอนาคตเช่นธุรกิจประเภท Cloud computing, Remote working, 5G, และ IoT แต่ทางมอร์นิ่งสตาร์มองว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้อาจเกิดการย่อตัวได้หลังจากการปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้ทำให้ราคาหุ้นเริ่ม overvalued และมีโอกาสเข้าซื้อที่จำกัดในระยะนี้

หากดูที่การเคลื่อนไหวของ Morningstar US Technology Index นั้น (รอบ 1 ปีจนถึง ณ วันที่ 23 กันยายน 2020) มีการปรับตัวขึ้นไปกว่า 38.8% ซึ่งสูงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่างมากที่ขึ้นเพียง 10.3% โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนล่าสุด หุ้นเทคยังปรับขึ้น 6.0% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้น 5.1% ทำให้ในภาพรวมหุ้นเทคโนโลยีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับ ฮาร์ดแวร์ Semi-Conductors หรือซอฟต์แวร์จะมีราคาใกล้เคียงกับ fair value ส่งผลให้มีเรตติ้งอยู่ที่ระดับ 3 ดาวหรือต่ำกว่า (Morningstar Ratings for Stocks)

อย่างไรก็ตามหากมองข้ามเรื่องของ Valuation หุ้นเทคโนโลยีเองก็สามารถแบ่งออกได้หลากหลาย โดยกลุ่มธุรกิจ software เป็นกลุ่มที่มอร์นิ่งสตาร์มองว่ายังมีศักยภาพเนื่องจากรายได้ที่มาจากจำนวนผู้ใช้งาน (subscription) ซึ่งมีความเสี่ยงด้านการยกเลิกใช้งานของลูกค้าที่ต่ำ โดยธุรกิจประเภทนี้เคยฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วในช่วงวิกฤตการณ์รอบปี 2008 และยังคงเป็นลักษณะเดียวกันในรอบนี้ที่สถานการณ์ของโควิดทำให้การใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ มีผลกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น

หากดูที่ภาพกองทุนรวมในประเทศไทยกลุ่มกองทุนหุ้นเทคโนโลยี (Global Technology) ปีนี้ถือว่าเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 9 เดือนราว 9 พันล้านบาท ประกอบกับผลตอบแทนที่สูงทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 74% ไปที่ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับสัดส่วนที่ราว 5% ของมูลค่ากองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม term fund)

ผลตอบแทนกลุ่มกองทุนหุ้นเทคโนโลยี (Global Technology) สะสมรอบ 9 เดือนที่ผ่านมานั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 30% โดยสูงสุดเป็นกองทุนจาก บลจ.กรุงศรี คือ Krungsri Global Technology Equity RMF (KFGTECHRMF) ที่ 47.0% จากที่มีการลงทุนแบบ feeder fund ไปที่กองทุน T.Rowe Price Funds SICAV – Global Technology Equity Fund (Class Q) โดยข้อมูลกองทุนกลุ่ม Global Technology มีดังนี้ (กองทุนที่ยังไม่มีเรตติ้งคือกองทุนที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี)

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันกองทุนรวมกลุ่มนี้มีตัวเลือกให้นักลงทุนได้พิจารณามากขึ้นกว่าในอดีต โดยมอร์นิ่งสตาร์ได้หยิบยกข้อมูลเบื้องต้นที่นักลงทุนควรทราบเช่น กองทุนมีการลงทุนในกอง master fund หรือ fund of funds รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่บางกองทุนมีการลงทุนที่คล้ายกันแต่มีค่าธรรมเนียมต่างกัน และผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น นอกจากนี้นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาความเสี่ยงกองทุนประเภทนี้ด้วย เนื่องจากมีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจัยเฉพาะกับอุตสาหกรรมจะทำให้ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนกองทุนอย่างมีนัยสำคัญได้

นักลงทุนสามารถดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3iJUqy2