HoonSmart.com>>บล.เอเซียพลัสคาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ตั้งไข่ หลัง IMF ปรับคาดการณ์โลกปีนี้ดีขึ้นเป็น -4.4% ส่วนไทยเหลือ -7.1% เป็นบวกต่อสินค้าโภคภัณฑ์ แนะซื้อ PTTGC เป้าปีนี้ 44 บาทปีหน้ากระโดดขึ้น 64 บาท บล.ไทยพาณิชย์ชวนนักลงทุนระยะกลาง-ยาวช้อป 5 หุ้นใหญ่ราคาลงมาลึก CPF-SCCC-BDMS-EGCO-BAM ให้หลีกเลี่ยงโรงแรม สายการบิน ห้าง ธนาคาร ขนส่ง พบชอร์ตเซลหุ้นท่องเที่ยวสูง AOT-ERW ธปท.ยันไม่รีบผ่อนคลายธนาคารพาณิชย์จ่ายปันผล ทุบหุ้นแบงก์เดี้ยง BBL ออกหุ้นกู้เพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 รองรับความเสี่ยง 2 ปี
บล.เอเซียพลัส วิเคราะห์ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF ) ได้ปรับประมาณเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้นเป็นหดตัว-4.4% จากเดิม-4.9% ส่วนปี 2564 เติบโต 5.2% จากเดิมคาด+ 5.4% นับเป็นครั้งแรกของปีที่ปรับขึ้น หลักๆมาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น อาทิ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน ส่วนไทยปรับเพิ่ม GDP หดตัว -7.1% จากเดิมคาด -7.7% ตอกย้ำ Dowside ของเศรษฐกิจไทยเริ่มจำกัด
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น หนุนสินค้าโภคภัณฑ์ทยอยฟื้นตัว กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งเฉพาะตัว เลือก PTTGC ให้เป้าหมาย 44 บาท จากราคาปรับขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม และคาดกำไรไตรมาส 4 ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 รับผลบวกจากทุกธุรกิจในกลุ่มดีขึ้น และทิศทางปี 2564 กลับมาสดใส ภายใต้ประมาณการใหม่ มูลค่าเหมาะสมอยู่ที่ 64 บาท
” เศรษฐกิจไตรมาส 4/2563 กลับมาตั้งไข่ใหม่ หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระบบมากขึ้น เชื่อว่าจะเห็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละอุตสากรรมออกมาเพิ่มเติม เช่น ซอฟท์โลน สายการบิน ดีต่อ AAV ยานยนต์ SAT,AH และอสังหาริมทรัพย์ NOBLE,AP,LH เป็นต้น” บล.เอเซียพลัสระบุ
ด้านบล.ไทยพาณิชย์มองว่า IMF ปรับมุมมอง GDP โลกปีนี้ดีขึ้น แต่ปีหน้าแย่ลง ไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด เนื่องจากใกล้เคียงที่คาดไว้ และมองว่าตลาดยังคงมีความผันผวน พอร์ตลงทุน รอซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% บริเวณ 1,240-1,250 จุด
สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำหุ้นเชิงรับ เลือกซื้อในหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับลงแรง อย่าง CPF,SCCC,BDMS,EGCO รวมถึงBAM ที่มีโอกาสเข้าคำนวณ SET 50 รอบครึ่งแรกของปี 2564 ส่วนหุ้นขนาดเล็กเน้นการเก็งกำไร คือ AUCT,IIG,PRIME,SVI,WICE,ZIGA,ILINK,NOBLE,IP,TNP โดยยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่ม โรงแรม สายการบิน ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร ขนส่ง
ทั้งนี้ วันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นที่มีการชอร์ตเซลสูงๆ ยังคงเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น AOT ชอร์ตเซลสัดส่วน 19.04% ERW 18.24 % และธนาคาร TMB 17.68 %
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้นจะไม่ผ่อนคลายโดยเร็ว และเป็นสิ่งที่ธปท.จะพิจารณาเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินอยู่ค่อนข้างมาก
นายเมธี กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ส่งมาให้กับธปท.พบว่าเงินกองทุนยังอยู่ในระดับที่สูง แม้จะลดลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม แต่ภาพรวมยังมีเสถียรภาพที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบเข้ามาได้อีกค่อนข้างมาก แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในระบบที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการในเดือนต.ค.นี้ และภาวะเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 2 ปี
“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากกว่า 60% ส่วนที่ยังชำระไม่ได้ประมาณ 40% เป็นกลุ่มลูกค้า SMEs เป็นส่วนใหญ่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ”
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ คาดว่าจะยืดระยะเวลาให้ 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่ความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละราย ส่วนสถานะของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง คาดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะกลับมาอยู่ในระดับ 18% ในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17% ซึ่งเเพียงพอจะรองรับ NPLs ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ไปจนถึงอีก 2 ปีข้างหน้า และยังไม่มีแผนออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในระยะนี้
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์แนะนำให้ทยอยซื้อหุ้น BBL ให้ราคาเป้าหมาย 133 บาท เงินกองทุน 18% ใกล้เคียงกับแบงก์ใหญ่ SCB และ KBANK ลุ้นกำไรไตรมาส 3 น่าจะดีขึ้นากการตั้งสำรองไว้ล่วงหน้าค่อนข้างมากแล้ว
ด้านตลาดหุ้นวันที่ 14 ต.ค. ดัชนีปรับตัวลงแรงกว่าตลาดต่างประเทศ ปิดที่ 1,263.99 จุด -9.44 จุดหรือ -0.74% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 51,802 ล้านบาท แรงขายออกมามากจากนักลงทุนต่างชาติ -2,665 ล้านบาท สถาบันขายเล็กน้อย 936 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนช้อน 3,433 ล้านบาท ทั้งนี้มีแรงขายหุ้นแบงก์ และพลังงาน ขณะที่ซื้อหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ และถุงมือยาง