ดั๊บเบิ้ล เอ ขายหุ้นกู้ทะลุเป้า 4,021 ลบ. เชื่อมั่นธุรกิจแข็งแกร่งรับ New Normal

HoonSmart.com>>”ดั๊บเบิ้ล เอ” ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นกู้ ตั้งเป้า 3,000 ล้านบาท ยอดจองล้น 1,021.2 ล้านบาท ตอบรับศักยภาพการเติบโตขยายกระดาษบรรจุภัณฑ์ตลาดเบ่งบาน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เกรดพิเศษ บูรณาการธุรกิจครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพดำเนินงานดีขึ้น ต้นทุนไม่ผันผวนตามราคาเยื่อกระดาษสินค้าโภคภัณฑ์ 

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 2 ชุด มูลค่า 3,000 ล้านบาท และสำรอง (กรีนชู) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ปรากฎว่าบริษัทสามารถจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 4,021.2 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายหลักที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 1,021.2 ล้านบาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจรับมือ New Normal

“บริษัทขอขอบคุณผู้ลงทุนในหุ้นกู้ ที่ให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทที่จะสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และให้การสนับสนุนกิจการด้วยดีมาตลอด”บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ระบุ

บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ปรับตัวรับผลกระทบจากโควิด-19 เตรียมการขยายธุรกิจรองรับโอกาสใหม่ ทั้งอุปกรณ์สำนักงาน กระดาษบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย โดยยังคงเป้าหมายรักษาการเติบโตของธุรกิจที่ 10% ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจกระดาษ บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ ได้ขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์หรือกระดาษคราฟท์ เพราะตลาดทั่วโลกกำลังเบ่งบาน เติบโตอัตราเฉลี่ย 1.6% ต่อปี  จึงสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษกำลังการผลิต 270,000 ตันต่อปี ใช้กระดาษใช้แล้ว (Mixed Paper) เป็นวัตถุดิบในการผลิต  และเริ่มผลิตตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ โดยบริษัทฯ มีสัญญาขายกระดาษให้กับพันธมิตรจากประเทศจีนเป็นเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกัน บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนำกระดาษใช้แล้วส่วนหนึ่งมาผสมกับเยื่อกระดาษคุณภาพสูง เพื่อผลิตเป็นกระดาษบรรจุภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยมขายให้กับลูกค้าในประเทศ กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี  ทำให้สามารถผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ได้ทุกเกรดในราคาที่แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ และเปิดตลาดผลิตภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เป็นการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดที่มีการเติบโตสูงและช่วยกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ภายใต้ New Normal ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงวัตถุดิบและตลาด อาเซียนก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของธุรกิจทั่วโลก บริษัท Lenzing ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอชั้นนำจากประเทศออสเตรีย จึงเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิต โดย Lenzing ตัดสินใจลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อผลิตเส้นใย Lyocell ซึ่งเป็นนวัตกรรมเส้นใยอัจฉริยะที่ดีสุดในโลกที่ใช้เส้นใยจากเยื่อไม้ทดแทนเส้นใยพลาสติก พร้อมกับมีแผนลงทุนเส้นใยขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตัน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2564

ทั้งนี้ Lenzing เลือกตั้งโรงงานที่สวนอุตสาหกรรม 304 ในกลุ่มบริษัทพันธมิตรของ ดั๊บเบิ้ล เอ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานดี การคมนาคมขนส่งสะดวก และประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบเยื่อไม้ที่สำคัญ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ เป็นหนึ่งในองค์กรที่พร้อมปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้นำแผนปรับปรุงการดำเนินงานมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการทุกส่วน ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการภายใน อาทิ งานบัญชี การเงิน และฝ่ายปฏิบัติการให้ทันสมัย ใช้คนน้อยลง และที่สำคัญคือการปรับองค์กรให้พนักงานเข้ามาอยู่ในรูปแบบของ Digital Manpower รวมถึงการกระตุ้นให้พนักงานใช้งาน Social Media ในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และเปิดโอกาสให้พนักงานฝ่ายขายและการตลาดขายผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น

” บริษัทฯ ดีขึ้นเกือบทุกด้าน วัดจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ที่ดีขึ้น EBITDA เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.2% ในปี 2559 สู่ระดับ 20% ในปี 2561 และ 2562 พร้อมบูรณาการธุรกิจครบวงจร วางโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง และเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์กระดาษแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเยื่อกระดาษไปจนถึงการผลิตกระดาษ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยควบคุมต้นทุนไม่ให้ผันผวน เนื่องจากเยื่อกระดาษเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูง”

การที่ ดั๊บเบิ้ล เอ ทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกต้นกระดาษ ทำให้เป็นผู้ผลิตกระดาษที่มีวัตถุดิบรองรับอย่างเพียงพอ มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานผลิตกระดาษ ส่งผลให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง สามารถผลิตกระดาษที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด และยังสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจข้างเคียง เช่น ธุรกิจผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยที่ยังรักษาคุณภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้

jc