FETCO เสนอรัฐฯ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs หนุนระดมทุน

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เข้าพบรองนายกฯ เสนอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ SMEs แปลงสินทรัพย์เป็นตราสารทางการเงิน วอนภาครัฐเข้าช่วยค้ำประกัน หวังเพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ซบเซา หมวดธุรกิจอาหารยังน่าสนใจ กลุ่มแบงก์ยังไม่น่าสนใจ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า หลังจากเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีวันที่ 9 ต.ค.63 ว่า ได้มีการพูดคุยที่จะใช้เครื่องมือในตลาดทุนที่จะเข้ามาช่วยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 โดยมีแนวคิดแรกคือการออกหุ้นกู้ ในรูปแบบการจัดตั้งกองทุน SMEs รวมผู้ประกอบการหลายๆเข้ามา เพื่อให้ได้เป็นกองทุนใหญ่กองทุนเดียว และยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงอีกด้วย การรวมกองทุนนั้นมองว่าเหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ระดมทุนในจำนวนที่ไม่มากเท่าธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะที่วิธีที่สองจะทำการแปลงสินทรัพย์มาเป็นตราสารทางการเงิน ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนอื่นๆ เพื่อเข้ามาระดมทุนสินทรัพย์ หนี้ หรือสินเชื่อต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ติดค้างกับทางธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระ ซึ่งหากว่าผลตอบแทนหรือเงินปันผลที่ได้รับไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงก็อาจจะเลือกไม่ลงทุน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยค้ำประกันบางส่วน อาทิ การใช้บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกัน

อย่างไรก็ตามรองนายกฯเห็นด้วยว่าตลาดทุนมีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs แต่จะต้องจัดตั้งรูปแบบให้สามารถระดมทุนได้จริง ณ วันนี้ประเด็นหลักคือจะสามารถระดมทุนได้อย่างไร ด้วยความเสี่ยงที่มีค่อนข้างสูง และต้องจัดการความเสี่ยงและผลตอยแทน เพื่อจูงใจนักลงทุนอย่างไร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” (ช่วงค่าดัชนี 40 – 79) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อยู่ที่ระดับ 67.44 ความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ส่วนความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ “ซบเซา”

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

​สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งของโควิด-19 จนต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ 2.ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มมากขึ้น 3.การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU 4.การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ใกล้เข้ามา

ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ 1.ผลจากการอนุมัติให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) 2.ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3.สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ร้อนแรงขึ้น และ4.ผลจากการกลับมาเริ่มใช้เกณฑ์ปกติ “Short Selling – Ceiling & Floor” ของ SET และ TFEX