“เอเซียพลัส” จ่อหั่นเป้าดัชนีฯปีนี้ต่ำสุด 1,661 จุด เหตุกระแสฟันด์โฟลว์ไหลจากไทย พร้อมจับตา “ทรัมป์” ก่อสงครามการค้ารอบใหม่
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) เปิดเผยว่า ASP ยังคาดว่ากำไรตลาดต่อหุ้นในปีนี้จะอยู่ที่ 110.78 บาท เนื่องจากผลกระทบสงครามการค้าจะมีผลกระทบไม่มากในปีนี้ แต่จากทิศทางฟันด์โฟลว์ที่มีแนวโน้มไหลออกจากไทยต่อเนื่อง ทำให้ ASP อยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปีนี้ลงจาก 1,772 จุด เหลือ 1,717-1,661 จุด โดยคำนวณจากค่าพี/อีตลาดที่ 15-15.5 เท่า จากเดิม 16 เท่า
“ตลาดหุ้นทั่วโลกและไทยปรับลดลงตอนนี้ไม่ใช่แปลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยปีนี้คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ปีหน้าขึ้น 3 ครั้ง และปี 2562 ขึ้นอีก 2 ครั้ง ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐเพิ่มเป็น 3.75% จากปัจจุบัน 1.75-2% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 3% กว่า ส่วนดอกเบี้ยไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้งและปีหน้าอีก 1 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ 2.25% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.18%”นางภรณีกล่าว
นางภรณี ยังระบุว่า ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงคู่ค้ารายอื่นๆของสหรัฐ ทำให้เงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากเอเชียและไทย โดย ASP ประเมินว่าสิ้นปีนี้เงินบาทจะอ่อนค่าลงเหลือ 33.5-34 บาท แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ หากประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มจำนวนรายการสินค้าที่จะมีการปรับขึ้นภาษี เช่น ตอนนี้สหรัฐอยู่ระหว่างพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์จากยุโรป
“ถ้าสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์จากยุโรปจริง ทางยุโรปก็เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐเช่นกัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่ากับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ของยุโรปไปสหรัฐ หรือ 2.94 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐกำลังพิจารณาว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐอีกหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามท่าทีของทรัมป์ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าทรัมป์ยังเดินหน้าต่อจะกระทบต่อหุ้นทั่วโลกในทันที”นางภรณีระบุ
สำหรับผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีนรอบแรกที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 6 ก.ค.นี้ นางภรณี กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรายได้จากจีน เช่น DELTA , HANA , KCE และ SVI ไม่เกิน 3% เท่านั้น แต่ขณะนี้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้กลับลดลงเกิน 3% ซึ่งมากกว่าผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับไปแล้ว ส่วนหุ้นที่จะไม่ได้รับผลกระทบจะอยู่ในกลุ่มอาหาร เช่น CPF , TU , BR ,TFG และ GFPT
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของสงครามการค้าโลก จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าได้ เนื่องจากภาคเอกชนอาจชะลอการลงทุน แม้ว่าปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 80%