ความจริงที่ “เน็กเก็ตชอร์ต” คุมไม่ได้ อึ้ง!กองทุนตัวการทำชอร์ต อะเกนพอร์ต

HoonSmart.com>>นักลงทุนไทยทำใจ คุมเน็กเก็ตชอร์ตของต่างชาติลำบาก เข้าไม่ถึงข้อมูลคัสโตเดียน ทำได้วิธีเดียว การขอให้ส่งข้อมูล และลงโทษไม่ถึงนักลงทุน อึ้ง !!! กองทุนไทย ตัวการทำชอร์ต อะเกนพอร์ต เช้าขายหุ้น เย็นซื้อกลับราคาถูก นักวิเคราะห์แนะนำหุ้นขนาดกลางและเล็ก หลบภัยชอร์ตเซลตามเกณฑ์ปกติ บล.กสิกรไทยเชียร์ JMT-CHAYO-DOHOME-SYNEX-SRICHA-ASIAN-SAT-TVO ส่วนเมย์แบงก์ฯ AUCT-SIS-DCC-RBF บล.หยวนต้า TACC-PORT-INET-THCOM

การปรับตัวลงของตลาดหุ้นระยะนี้ จากรายงานการซื้อขายนักลงทุนรายกลุ่ม จะเห็นว่าสถาบันและกองทุนขายหุ้นออกมาต่อเนื่องติดต่อกัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง ประกอบกับตลาดไม่มีข่าวดีใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นการลงทุน

กองทุนและสถาบัน มีสภาพเก็งกำไร เข้า-ออกเร็วเหมือนนักลงทุนรายย่อย แต่ทำในลักษณะเช้าขายหุ้น และซื้อกลับตอนเย็น หรือชอร์ต อะเกนพอร์ต เพื่อรับกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยอาจจะมีการทำ เน็กเก็ตชอร์ต (NAKED SHORT) หรือขายหุ้นโดยไม่มีใบหุ้นในพอร์ต ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติ ฝากหุ้นไว้กับคัสโตเดียน , การมีเอ็นวีดีอาร์ ขณะที่นักลงทุนไทย เก็บหุ้นไว้ที่โบรกเกอร์ วิธีการของนักลงทุนไทยกับต่างชาติ จึงไม่เท่าเทียมกัน แต่ทำได้วิธีเดียวแค่การขอให้ส่งข้อมูลให้ครบ เป็นวิธีทำให้โบรกเกอร์ทำงานยากขึ้น

“ เมื่อพบว่ามีการทำเน็กเก็ตชอร์ตของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งบางครั้งจับไม่ได้ เพราะมีการอ้างว่า มีหุ้นอยู่ในคัสโตเดียนที่ต่างประเทศ กว่าจะตรวจสอบได้ก็เย็น มีการขายหุ้นออกไปแล้ว จึงไม่มีวัน ห้ามการทำเน็กเก็ตชอร์ตได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือ ต้องปล่อยให้มีการทำเน็กเก็ตชอร์ต อย่างเท่าเทียมกันทั้งต่างชาติและรายย่อย แต่ที่ทำไม่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา จะพบว่าการลงโทษไป แต่ไม่ถึงนักลงทุนต่างชาติ ลงโทษได้แค่โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น “ แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับวันที่ 1 ต.ค. ตลาดหลักทรัพย์จะกลับมาใช้เกณฑ์การทำชอร์ตเซลเดิม คือ การตั้งคำสั่งขายในราคาตลาดได้ เชื่อว่าการทำชอร์ตเซลคงไม่เพิ่มผิดปกติ จากที่เหลือ 2 % ของมูลค่าตลาดหลังใช้เกณฑ์ชั่วคราว จากเกณฑ์ปกติ 6 % หากกลับไปที่ 6 % เหมือนเดิม ถือว่าปกติ

ทางด้านคำแนะนำการลงทุนจากการเริ่มใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.63 ดัชนี sSET Index และดัชนี SET Index ปรับตัวลดลง 2.3% และ 3.3% ตามลำดับ ซึ่งมีทิศทางดีกว่า SET50 Index ที่ลดลง 4.2% สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทที่ว่าหุ้นขนาดเล็ก จะมีทิศทางราคาที่ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ไปจนกว่าทางธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟดจะมีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น

“เหตุผลที่เราคาดว่าราคาหุ้นขนาดเล็กจะดีกว่าขนาดใหญ่ เพราะการกลับมาของแรงขายหลังจากมีการยกเลิกกฎเกณฑ์ Uptick Rule (ระดับราคาที่ขายชอร์ตจะต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายก่อนหน้า) ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 จะจำกัด upside ของกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการขายชอร์ต รวมถึงแรงกดดันการขายเพื่อซื้อหุ้น IPO มูลค่าตลาดสูงตัวใหม่ในไตรมาส 4/63 และแรงขายของนักลงทุนต่างชาติจากสภาวะเศรษฐกิจไทยและประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท ในเดือน ก.ย.และขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ 2.68 แสนล้านบาท” นายสุนทร กล่าว

ส่วนกลยุทธ์แนะนำเลือกซื้อหุ้นขนาดเล็กที่มีทิศทางกำไรแข็งแกร่งในครึ่งหลังปี 2563 โดยให้หุ้น JMT ที่ราคาเป้าหมาย 39 บาท , CHAYO ที่ราคา 9.40 บาท ,DOHOME ที่ราคา 14.50 บาท ,SYNEX ที่ราคา 15.50 บาท ,SRICHA ที่ราคา 18 บาท ,ASIAN ที่ราคา 15 บาท ,SAT ที่ราคา 14.50 บาท และTVO ที่ราคา 34.50 บาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยง ทั้งการเมือง และเศรษฐกิจทีฟื้นตัวช้า รวมถึงชอร์ตเซลที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ทยอยขายออกมาต่อเนื่อง สัปดาห์ก่อนหน้า (21-25 ก.ย.63) ขายสุทธิประมาณ 10,158 ล้านบาท การขายออกมองว่าเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ ทำให้หุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็ก ในช่วงสั้นเป็นหุ้นที่น่าสนใจ แต่ต้องเลือกหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรที่ชัดเจน โดยให้หุ้นเด่น AUCT ที่ราคาเป้าหมาย 16.70 บาท ,SIS ที่ราคา 18.50 บาท ,DCC ที่ราคา 3 บาท และ RBF ที่ราคา 11.50 บาท

“หากตลาดหุ้นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น การลงทุนของหุ้นขนาดเล็กก็ถูกปรับลดเช่นกัน แต่การลงทุนก็ควรมองว่าความสามารถในการทำกำไรได้ดีแค่ไหน สามารถเติบโตได้ไหม ซึ่งใช้เป็นตัวเลือกหลักในการตัดสินใจการลงทุน” นายวิจิตร กล่าว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนในช่วงสั้นแนะนำหุ้นขนาดเล็ก TACC ,PORT ,INET และ THCOM มองว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ผลการดำเนินงานจะฟื้นดีขึ้น และ P/E ไม่แพง โดยปัจจัยกดดันช่วงสั้นมาจากการเมือง  และการหมดอายุของเกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราว คาดหลังจากวันที่ 14 ต.ค.63 ถึงจะสามารถกลับไปลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ได้