“ทริส” หั่นเครดิต KSL เหลือ BBB+ คาดผลงานลดลงมากปี 63-64

HoonSmart.com>> “ทริส” ลดเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ “น้ำตาลขอนแก่น” เป็น BBB+ จากเดิม A- สะท้อนคาดการณ์ผลงานลดลงมากปี 63-64 เปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Stable”

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เป็นระดับ “BBB+” จากเดิมที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวลดลงอย่างมากในปีบัญชี 2563 และปีบัญชี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งรุนแรงในประเทศไทยที่เกิดต่อเนื่องนานถึง 2 ปีซึ่งทำให้ผลผลิตอ้อยไม่สมบูรณ์และราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล และประโยชน์ที่ได้รับจากสภาวะแวดล้อมของกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลในต่างประเทศของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต : ผลประกอบการทางการเงินอ่อนแอลง โดยผลประกอบการของบริษัทในปีบัญชี 2562 เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมคงที่ที่ระดับ 1.86 หมื่นล้านบาท อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 15.5% ในปีบัญชี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับ 15.4% ในปีบัญชี 2561 อันเนื่องมาจากการที่บริษัทมีต้นทุนวัตถุดิบลดลงจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาทในปีบัญชี 2562 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่ 2.8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 8.2% เมื่อเทียบกับ 20.9% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทมีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์และการยกเลิกสัญญาซื้อขายน้ำตาลจำนวน 499 ล้านบาทและจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณอ้อยที่ต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ บริษัทยังมีการรับรู้รายการค่าใช้จ่ายเงินสมทบกองทุนอ้อยและน้ำตาลซึ่งเป็นรายการที่มีการบันทึกเพียงครั้งเดียวจำนวน 337 ล้านบาทอีกด้วย ส่งผลทำให้บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 179 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 (หรือกำไรสุทธิ 84 ล้านบาทหากไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีบัญชี 2562 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 725 ล้านบาท

ราคาน้ำตาลที่ลดลงอย่างมากและภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปีการผลิต 2562/2563 มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตรากำไรของผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยลดลงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงประมาณ 20%-32% มาอยู่ที่ระดับ 1.07-1.27 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2563-2564 และจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.41 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2565 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14 เซนต์ต่อปอนด์ในปีบัญชี 2563 และจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 14.5 เซนต์ต่อปอนด์ในปีบัญชี 2564-2565 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8% ในปีบัญชี 2563 และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยูที่ระดับ 16%-18% ในปีบัญชี 2564-2565

โรงงานน้ำตาลในประเทศเพื่อนบ้านยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อไป : บริษัทดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทย่อย 2 แห่งมาตั้งแต่ปีบัญชี 2553 โดยใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้นประมาณ 1.6 พันล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2562 และมีการด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 1.5 พันล้านบาท ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีของเงินลงทุนของบริษัทย่อยในทั้ง 2 ประเทศจึงลดลงเหลือเท่ากับ 100 ล้านบาท ในการนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจาก สปป. ลาว และกัมพูชาน้อยกว่า 5% ของรายได้รวม

ปัจจุบันการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศกัมพูชาอยู่ระหว่างขั้นตอนการขายเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ใน สปป. ลาว ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิสำหรับบริษัทที่อยู่ในสปป.ลาวจำนวน 59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 13 ล้านบาท ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัทนั้นเกิดจากบริษัทมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาขายน้ำตาลและกากน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งรายงานผลการดำเนินงานกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 37 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 เมื่อเทียบกับขาดทุนสุทธิ 55 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินธุรกิจน้ำตาลใน สปป. ลาว และประเทศกัมพูชาของบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ต่อไป เช่น ความผันผวนของปริมาณอ้อยและราคาน้ำตาล รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการน้ำตาล และความเสี่ยงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น

ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงและค่าใช้จ่ายลงทุนที่จำกัดส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลง : ระดับสินค้าคงคลังของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 73 วัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 90 วัน ณ สิ้นปีบัญชี 2559-2561 โดยสาเหตุมาจากการมีปริมาณสินค้าคงคลังที่ลดลง บริษัทยังได้ลดค่าใช้จ่ายลงทุนในปีบัญชี 2562 ลงเหลือ 741 ล้านบาทจากค่าเฉลี่ยที่ระดับ 2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2559-2561 อีกด้วย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.3% ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 เมื่อเทียบกับระดับ 55.9% ในปีการเงิน 2562 และ 54.7% ในปีการเงิน 2561

ภาระหนี้รวมที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.06 หมื่นล้านบาท ณ เดือนกรกฎาคม 2563 เนื่องจากบริษัทมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนจะลดค่าใช้จ่ายลงทุนลงให้เหลือประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2563-2565 โดยบริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปในการขยายกำลังการผลิตและซ่อมบำรุงประจำปี ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47%-49% ในช่วงปีบัญชี 2563-2565 เมื่อเทียบกับระดับ 52.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทนั้นคาดว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.8% ในปีบัญชี 2563 จากระดับ 6.6%-10% ในช่วงปีการเงิน 2560-2562 และหลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7%-11% ในระหว่างปีบัญชี 2563-2565

มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง : ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีผลงานที่ยาวนานในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของผลผลิตน้ำตาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในสัดส่วนประมาณ 7%-8% อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำตาลมาอย่างยาวนานมากกว่า 70 ปี ลูกค้าหลักของบริษัท ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของบริการและคุณภาพของสินค้าเนื่องจากสินค้าของลูกค้าเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการเฉพาะ ดังนั้น บริษัทจึงสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาสูงได้ตามคุณภาพของสินค้าที่ผลิต

การขยายกิจการไปยังธุรกิจปลายน้ำ : ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของบริษัทส่วนใหญ่เกิดจากการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ ผลพลอยได้ส่วนใหญ่คือชานอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล บริษัทนำชานอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงงานไฟฟ้า ส่วนกากหม้อกรองนั้นนำมาใช้ผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการปลูกอ้อย ในขณะที่กากน้ำตาลนั้นนำมาใช้ผลิตเอทานอล ธุรกิจปลายน้ำของบริษัทประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจเอทานอล และธุรกิจปุ๋ย อนึ่ง บริษัทได้เริ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว

รายได้จากธุรกิจพลังงานและธุรกิจปุ๋ยคิดเป็นประมาณ 7%-10% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนของบริษัทในการผลิตเอทานอลนั้นเป็นการดำเนินงานผ่านการถือหุ้นในสัดส่วน 40% ใน บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทบีบีจีไอ ปีละประมาณ 220-280 ล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2563-2565

มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ : ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวนประมาณ 831 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปีบัญชี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระตามกำหนดรวมทั้งสิ้นจำนวน 3-4.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2564-2565 อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 พันล้านบาทในปีบัญชี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.2-1.9 พันล้านบาทในปีบัญชี 2564-2565 ตามราคาน้ำตาลที่เริ่มทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 99 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกกว่า 1.76 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงปีบัญชี 2563-2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน : รายได้รวมจะลดลง 16%-32% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2563-2564 ตามภาวะภัยแล้งที่ต่อเนื่องในประเทศไทย และจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว ๆ 32% ในปีบัญชี 2565

อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 10% ในปีบัญชี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15%-19% ต่อปีในปีบัญชี 2564-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับ 8% ในปีบัญชี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 16%-18% ต่อปีในระหว่างปีการเงิน 2564-2565

ค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต : แนวโน้มอันดับเครดิต”Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้ได้ ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยและรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนในธุรกิจน้ำตาลให้แก่บริษัทได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง : การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวอย่างมั่นคงเป็นระยะเวลานานในขณะเดียวกันกับที่บริษัทสามารถลดระดับภาระหนี้ลงได้โดยทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 7 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน