HoonSmart.com>>4 กูรู แจกโผ 21 หุ้น ควรค่าแห่งการทยอยซื้อสะสมเก็บเข้าพอร์ต พร้อมแนะวิธีเฟ้นหา กำไรชนะการล็อกดาวน์ ธุรกิจเติบโตในโลกใบใหม่
“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “หาหุ้นเติบโต ฝ่า COVID กับนักวิเคราะห์การลงทุน “ในงาน SET in the City 2020 วันที่ 26 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมาว่า ในช่วงนี้ตลาดหุ้นขาดปัจจัยกระตุ้น หลายประเทศเจอโควิดรอบ 2 ทำให้ดัชนีไหลลงมาจากระดับ 1,450 จุดและคาดว่าไตรมาสสุดท้ายจะยังไม่ดี หลังผิดหวังเรื่องวัคซีนไม่ออกมาตามคาด
สำหรับการลงทุนช่วงสั้นยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่มาก ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นเรื่องสำคัญ แนวโน้มคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องการรักษาพยาบาล การใช้เทคโนโลยีในการแพทย์จะมีการเร่งตัวขึ้น ข้อมูลของผู้ป่วยในระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เขียนอยู่ในกระดาษ จะต้องเก็บข้อมูลกันใหม่ จะต้องเก็บในเมืองไทย จะต้องมีการสร้าง Data Center เป็นโอกาส เร่ง 5 G ออกมาใช้
“สุกิจ”แนะนำหุ้น BCH ราคาเป้าหมาย 19 บาท แม้ว่าระยะสั้นผู้ป่วยต่างชาติยังไม่เข้ามา หุ้น PRIME ก็น่าสนใจ ราคาเป้าหมาย 0.65-0.75 บาทเป็นหุ้นไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ออกไปลงทุนต่างประเทศ ที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา และหุ้น IP เป้าหมาย 14-15 บาท
ส่วนการเลือกหุ้นธีมการปรับตัว แนะนำ IIG ราคาเป้าหมาย 22-26 บาทเป็นเรื่องการให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลนี เป็นบริษัทเล็ก แต่มีโอกาสเติบโตได้เร็ว ADVANC ปรับโมเดลธุรกิจ จากที่พึ่งพาโทรศัพท์ ดาต้า ก็ทำดาต้าเซนเตอร์ 5 G และเอ็นเตอร์ไพรส์ช่วยภาคธุรกิจทำธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น และหุ้น BDMS มูลค่า 26 บาท มีเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์
“วันนี้จะต้องลงทุนด้วยความใจเย็น การวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เป็นสิ่งจำเป็น เปลี่ยนมาเล่นภายใต้มุมมองวัฎจักร แนะนำ ERW ราคาเป้าหมาย 4 บาท BAM มูลค่าเหมาะสม 25 บาท หลังจากราคาหุ้นลงมาพอสมควร ขณะที่ธุรกิจยังมีความมั่นคง โอกาสที่จะซื้อ NPLs- NPAs มาบริหารมีมาก มีปันผลที่ดี และ GFPT มูลค่า 14-15 บาท เป็นหุ้นอาหาร จุดเด่นคือ กำลังการผลิตใหม่และความต้องการจะกลับมา”สุกิจกล่าว
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้หวังเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในประเทศ มีสภาพคล่องล้น เงินฝากสูงเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่ามาร์เก็ตแคปของตลาดและ GDP เป็นสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ยังไม่ลงทุน แม้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำ 0.25-0.50% ต่อปี เพราะทุกคนกลัวความเสี่ยง ในภาวะที่กำไรของบจ.ในครึ่งปีแรกลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ และราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก ยังมองเป็นโอกาสที่ทยอยซื้อสะสม แต่เลือกภายใต้ธีมบริษัทที่ชนะตลาดทุกด่าน คือกำไรโตมากกว่าหรือลดน้อยกว่าตลาด และขยายโอกาสทางธุรกิจโซนใหม่
” ผมเลือกหุ้น CPF กำไรไม่ตก ได้ราคาหมูดีขึ้น และการซื้อกิจการ ซื้อฟาร์มหมูในจีน กำไรไตรมาส 3 ยังเป็นช่วงขาขึ้นต่อ ภาพครัวโลกค่อนข้างโดดเด่น หุ้น CPALL ขยายไปที่กัมพูชา และลาว ตอนนี้ราคาไม่เคลื่อนไหว เพราะความกลัวเรื่องการซื้อโลตัส เกรงว่าจะต้องเพิ่มทุน เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทางการเงิน มีโอกาสเพิ่มทุนไม่มาก หุ้น SCC ก็น่าสนใจ เป้าหมาย 424 บาท ขยายโครงสร้างธุรกิจค่อนข้างชัดเจน บรรจุภัณฑ์ สร้างกำไรค่อนข้างเยอะ มีการซื้อกิจการ ในแต่ละปีมีการลงทุนสูง และในเร็วๆนี้ SCGP จะเข้ามาซื้อขาย โดยศักยภาพโดยรวมยังไปได้ดี หุ้นขนาดใหญ่ ยังน่าซื้อในเชิงกลยุทธ์ ค่อยๆสะสมหุ้นที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ดูความแน่นอนของรายได้ คือ มีแบ็กล็อก ขายของไปเยอะแล้ว รอรับรู้รายได้ และมีเรื่องปันผลสนับสนุนด้วย เลือก MCS ราคาเป้าหมาย 17.70 มีงานในมือรอรับไปอีก 2 ปี มีปันผล กำไรปีนี้โตถึง 46%”เทิดศักดิ์แนะนำ
นอกจากนี้สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย เลือกหุ้นธุรกิจถุงมือยาง STGT ให้ราคาเป้าหมาย 100 บาท ถูกและปันผลสูง ควรมีไว้ในพอร์ต และ NOBLE ราคาเป้าหมาย 22.70 บาท ชอบผลตอบแทนปันผลสูงปีละ 6-7 บาทต่อหุ้น เทียบกับราคาหุ้น 10 กว่าบาท จากนี้ไปยังจ่ายเงินปันผลได้ดี คาดการจ่ายเงินปันผลปกติ 2 บาทเศษต่อหุ้น เทียบกับราคาหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนปันผล 14-15% ต่อปี แถมมีแบ็กล็อก 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยสนับสนุนการเติบโตค่อนข้างดี มีธุรกิจใหม่ จากเดิมทำคอนโดมิเนียมกลางเมือง ขายราคา 5 ล้านบาทก็ออกไปพัฒนาคอนโดฯชานเมือง ลดราคาขายลง
ด้าน”ธนัทเทพ จันทรกานต์” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า หุ้นอาหารเกษตร CPF และ TU มีธุรกิจอาหารสำเร็จรูป มีหน้าร้านแล้วยังสามารถส่งตรงถึงลูกค้า ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีที่ดูแลสิ่งแวดล้อมก็เป็นโอกาส ไม่ได้แย่เสมอไป สินค้าซ่อมบ้าน อิเล็กทรอกนิกส์ เติบโตตามดิจิทัล รวมถึงพลังงานทดแทน EV มีมากขึ้นความต้องการมีมากขึ้น
ส่วนธุรกิจ Next Normal ดิจิทัล เทคโนโลยี อินโนเวชั่น มีหลายอุตสาหกรรมไปได้ ค้าปลีกเกาะแนวโน้มอีคอมเมิร์ซ หุ้นเทคโนโลยีของไทยก็มี ทำซอฟท์แวร์ HUMAN ทำเรื่องบุคคล หุ้น VGI เป็นสื่อนอกบ้าน แต่มีการเก็บข้อมูลทุกวันจากพาร์ทเนอร์ เช่น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, PLANB , RS ซึ่งเป็นข้อมูลครบทุกกลุ่มทุกวัย สามารถต่อยอดธุรกิจได้ แต่ในช่วง 2-3 ปีอาจจะยังไม่เห็นรายได้เท่าไรนัก
สำหรับหุ้นที่มองเห็นแนวโน้มการเติบโต แม้ในช่วงล็อกดาวน์ ยังโตได้ การลดต้นทุนได้เร็ว ทำให้กำไรขั้นต้นดีขึ้น หุ้น CBG แนวโน้มยังไปได้ดี รายได้ในไตรมาส 2/2563 ยังนิวไฮ แม้กำไรขั้นต้นลดลงจากไตรมาส 1 แต่เติบโตจากไตรมาส 2/2562 แม้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแล้ว แต่ P/E ไม่ได้สูงมาก COM7 ใช้ประโยชน์จากการตลาดเก่ง ทำ M&A มาก หุ้น TU อาหาร ยังโต รายได้ในไตรมาส 2 ทำนิวไฮ กำไรขั้นต้นนิวไฮ ควบคุมต้นทุนได้ดี แต่น่าประหลาดใจราคาถูก และหุ้น TQM เป็นประกันค่อนข้างดี รายได้โต เชื่อว่าหลังโควิด คนอยากทำประกันมากขึ้น เพราะโรคเกิดขึ้น เป็น Blue Ocean แม้ว่าราคาปรับตัวขึ้นมาแล้ว โดยส่วนตัวคาดว่าราคายังไปได้ไกลอีก แต่จะต้องดูจังหวะ
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ประมาณต้มยำกุ้งคือ ไตรมาส 2 ติดลบมากที่สุดกว่า 12% และค่อยๆดีขึ้น โดยกำลังฟื้นตัวในรูป “ตัว เจ กลับข้าง” หากไม่ทำอะไรเลย กำลังซื้อจะไม่กลับมา ซึ่งนโยบายการเงินยังไม่ถึงทางตัน เช่นการลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ ส่วนดอกเบี้ยจะต่ำอีกนาน และการใช้นโยบายการคลังให้ตรงเป้าหมาย รัฐบาลยังสามารถก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้
ธีมการลงทุนในปี 2564 คือ 4 อ. 1.อาหาร-ครัวโลก 2. อายุ-สูงวัย 3. อาเซียน- รวมกลุ่มเติบโต 4.อัตราดอกเบี้ยต่ำอีกนาน-สภาพคล่องสูง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเติบโต 3.6 % นักเศรษฐศาสตร์มองไว้ 2.5 ถึง 3.5% ขึ้นอยู่กับวัคซีน และการส่งออก ปัจจุบันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์ ฟื้นตัวก่อน ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งขนาดใหญ่เริ่มเห็นการฟื้นตัว แต่สายการบิน จะต้องรอปีหน้า เพราะความเชื่อมั่นยังไม่มาก นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 6 ล้านคน เป็นคนจีน แต่การใช้จ่ายไม่มากเท่ายุโรป อเมริกา