กลุ่มปตท.ดิ้น เพิ่มลงทุน New S-Curve สั่ง PTTEP ลดต้นทุนเหลือ 25 เหรียญ

HoonSmart.com>>”อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) กล่าวในงานสัมมนา BATTLE STRATEGY ในหัวข้อ “ถอดรหัส…กลยุทธ์ Reimagination”ว่า กลุ่มปตท.วางเป้าหมายการปรับกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลง ในส่วนสภาพภูมิทัศน์  และพลังงาน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเอง ทำให้ดิจิทัลมาแน่นอน ส่วนพลังงานมองไปข้างหน้า พลังงานฟอสซิลจะค่อย ๆ ลดลง มีทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และแก๊ส

” ถ่านหินน่าจะไปก่อน ตามด้วยน้ำมัน และแก๊ส ซึ่งแก๊สเป็นพลังงานที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเข้าจะเข้าสู่พลังงานหมุนเวียน (Renewable) อย่างจริงจัง อาจจะใช้เวลา 10-20 ปี เพราะแก๊สเคลื่อนไหวได้ง่าย เปลี่ยนเป็นของเหลว ส่งไปขายได้ทั่วโลก สะดวกในการนำไปทำไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาด พลังงาน EV ช้าเร็วไปแน่ๆ ไฟฟ้าตอบสนองเร็วที่สุด ”

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหายไปประมาณ 10% และราคาน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในส่วนธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ.(PTTEP) เน้นเรื่องการบริหารประสิทธิภาพ ต้นทุนจะต้องสู้ได้ ปัจจุบันปตท.สผ.มีต้นทุนอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ตั้งเป้าให้ได้ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพื่อยืนระยะได้อย่างดี มองว่าราคาน้ำมันจะอยู่ระดับบวกลบ 40 ไปอีกสักพัก

ธุรกิจแก๊สจะต้องไปมุ่งเน้นไปที่ LNG Value Chain มากขึ้น ไปทั้งวงจร ทั้งขุดเจาะเป็นของเหลว มีท่าเรือ และตลาดไปทั่วภูมิภาค นอกจากนี้แก๊สจะขยายต่อไปยังธุรกิจไฟฟ้าในรูปแบบของ Gas to Power บริษัท PTTEP จับมือกับ GPSC (บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่) มีแหล่งแก๊สแล้วต้องคิดว่าจะทำไฟฟ้าไหม

ส่วนธุรกิจโรงกลั่น ความต้องการสูงสุดมาถึงแล้วหรือยัง บางคนบอกว่าอีก 5 ปี 10 ปี เพราะโควิดทำให้เร็วขึ้น ซึ่งจะต้องยืนระยะให้ได้ เพื่อที่จะเป็นคนสุดท้ายที่จะต้องไป ต้นทุนสูงไปก่อน บริษัทไทยออยล์(TOP) ถึงมีการปรับคุณภาพเป็นการใหญ่

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ความต้องการใช้ยังสูงอยู่ เดิมที่จะเลิกใช้ถุงพลาสติก โควิดทำให้จำเป็นต้องใช้ เช่น ถุงมือ พลาสติกยังมีอนาคต แต่จะต้องปรับตัวเอง ทำเฉพาะเจาะจง พลาสติกมีเป็น 100 ชนิด จะต้องเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialties) มากขึ้น

ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก มีการปรับตัวเป็นศูนย์รวมของชุมชน ไม่เน้นการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว รวมถึงยังใช้พื้นที่สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์รวมการช่วยเหลือสังคม และการขยายแบรนด์ออกไปยังต่างประเทศด้วย

ด้านธุรกิจไฟฟ้าก็จะมุ่งเน้นเรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น พร้อมเพิ่มเติมเรื่อง Electricity Value Chain ล่าสุดอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) น่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2564 มีโอกาสต่อยอดไปสู่สมาร์ทกริดในอนาคต อาจจะมีการปรับโครงสร้างในการรับภารกิจของกลุ่มปตท. จะต้องมีหน่วยที่ดูแลพลังงานหมุนเวียนเฉพาะด้วย

นอกจากนี้ปตท.ยังมีการลงทุนใน New S-Curve ซึ่งมีเป้าหมายจะมีเงินลงทุน 10% ของพอร์ต โดยให้ความสนใจธุรกิจที่มีทิศทางในอนาคต นอกธุรกิจพลังงาน เช่น สุขภาพ ออกไปสู่ธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยล่าสุดเตรียมลงนามสัญญาร่วมพัฒนาและสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง กับองค์การเภสัชกรรม

“เป็นการบริหารพอร์ต แน่นอนพลังงานยังเป็นหลัก แต่มีการปรับเพื่อความหลากหลาย หากไปถูกที่ ถูกเวลา เหมือนกาแฟ ที่เราทำ  จึงมองสถานการณ์โควิดเป็นโอกาส องค์กรไหนจับได้ ก็เป็นโอกาส รวมถึงการควบรวมกิจการ ( M&A)และท่องเที่ยวด้วย ทำให้คนในองค์กรมีความร่วมมือ ในการทำสิ่งใหม่ ๆ และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ถึงจะฝ่าไปได้”อรรถพลกล่าวทิ้งท้าย