HoonSmart.com>> หุ้นโลกร่วงหนัก ไทยทรุด 1.03% ตามตลาดต่างประเทศ ตื่นข่าวแบงก์ใหญ่หลายแห่งมีเอี่ยวโอนเงินผิดกฎหมาย มี 4 ธนาคารไทยติดโผ กดดัชนีกลุ่ม -1.07% สถาบันถล่มยับ 2.7 พันล้านบาท ต่างชาติซ้ำเติม 1.9 พันล้านบาท เงินวิ่งออกจากหุ้นเข้าซื้อดอลลาร์ กดเงินบาทอ่อน บล.โนมูระฯ สะท้อนสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มผันผวนรุนแรง แนะลดเหลือ 25% บล.บัวหลวงมองระยะสั้น”ซิกแซกซึมลง” เชียร์ 6 กลุ่มกำไรฟื้นตัวเร็ว อาหาร-CPF,เครื่องดื่ม-OSP ,วัสดุก่อสร้าง-SCC ,อิเล็กฯ-DELTA ไฟแนนซ์-SAWAD-MTC ประกัน-TQM นักวิเคราะห์กังวลเรื่องตลาดกลับมาใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลปกติ ซิลลิ่ง-ฟลอร์ 30% เริ่ม 1 ต.ค. ซ้ำเติมตลาดอ่อนแอช่วงนี้
ตลาดหุ้นโลกแดงเถือก 21 ก.ย. หุ้นไทยเหวี่ยงขึ้น-ลงเกือบ 22 จุด โดยเปิดบวกรับข่าวดีการชุมนุมทางการเมืองไม่รุนแรง หนุนดัชนีขึ้นไปสูงสุด 1,295.35 จุด แต่ช่วงบ่ายเจอแรงขายอยางหนัก กดลงไปต่ำสุดที่ 1,273.44 จุด ก่อนปิดที่ 1,275.16 จุด -13.23 จุด หรือ -1.03% มูลค่าการซื้อขาย 40,183 ล้านบาท จากสถาบันไทยทิ้งหนัก 2,719 ล้านบาท ต่างชาติขาย 1,889 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนในประเทศซื้อ 4,283 ล้านบาท ด้านค่าเงินบาทปิดอ่อนค่าที่ระดับ 31.21/23 บาทต่อดอลลาร์
ดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ลดลง 2.78 จุด หรือ -1.07% ปิดที่ 256.38 จุด นำโดย CIMBT -3.57% ปิดที่ 0.54 บาท ตามด้วย KTB -2.63% ปิดที่ 9.25 บาท TCAP-1.60% ปิดที่ 30.75 บาท ส่วนแบงก์ใหญ่ KBANK ปรับตัวลงมากถึง 1.56% ปิดที่ 79 บาท
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างมาก ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียที่ส่วนใหญ่ลดลงกว่า 1% ขณะที่ตลาดในยุโรปร่วงถึง -3% เช่นเดียวกับดาวโจนส์ฟิวเจอร์สที่ทรุดกว่า 2% บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า ดาวโจนส์ฟิวเจอร์และตลาดหุ้นยุโรปร่วงแรง หลังมีรายงานของผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) เปิดเอกสารการโยกย้ายเงินแบบผิดกฏหมายระหว่างประเทศ โดยระบุว่ามีธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่งผลให้หุ้นธนาคารในยุโรป นำโดย HSBC ที่เทรดในตลาดหุ้นลอนดอนอ่อนตัวลง -3.3% รวมถึงหุ้นธนาคารอื่นๆ อ่อนตัวลงกดดันตลาด ผสานกับภาวะการระบาดโควิด-19 ในอังกฤษที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอีกครั้ง เกิดความกังวลว่าอังกฤษอาจต้องประกาศปิดเมืองรอบที่ 2 ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันมีข่าวว่า ธนาคารไทย 4 แห่งมีส่วนร่วมกับการโยกย้ายเงินที่ผิดกฎหมายด้วย
บล.โนมูระฯยังเปิดเผยว่า ดัชนีวัดความผันผวน Option ของ S&P500 พุ่งสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์เศษ 31.73 จุด สะท้อนสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มมีความผันผวนรุนแรง จึงคงคำแนะนำตลาดอยู่ในช่วงปรับฐานก่อนความเสี่ยงด้านนโยบายของประธานาธิบดีก่อนการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพ.ย.2563 และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเนื่องจากการระบาดรอบที่สองที่เริ่มรุนแรงขึ้นปกคลุมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จึงคงแนะนำถือหุ้นสัดส่วนน้อย 25% หุ้นเด่นคาดเป็นเป้า Trigger Fund ที่ทยอยออก คือ TOA, OSP, SABINA
ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า แนวโน้มระยะสั้นช่วงกลางเดือน ก.ย.ถึงสิ้นเดือน ต.ค.63 ดัชนีอาจจะเคลื่อนไหวในลักษณะซิกแซกและซึมลง โดยมองแนวรับที่ 1,250 จุด และแนวต้าน 1,310 จุด ตามลำดับ กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำถือหุ้นไม่เกิน 70% เป็นหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศ สัดส่วน 80% และ 20% ตามลำดับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสัดส่วนประมาณ 10-15% จากเงินลงทุนทั้งหมด
“หากหลุด 1,300 จุด ให้หาจังหวะซื้อเพิ่มแถว 1,250 จุด แนะลงทุนกลุ่มที่คาดว่าจะมีกำไรฟื้นตัวได้เร็วในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่หุ้น CPF, OSP, SCC, DELTA, SAWAD ,MTC และ TQM “นายชัยพรกล่าว
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่าการเมืองไม่มีความรุนแรงแต่อาจยืดเยื้อ ประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นปีนี้ -41% เป็น 52.8 บาท ปีหน้าเติบโต +28% เป็น 67.6 บาท ณ ดัชนี 1,288 จุด P/E ปีนี้และปีหน้า อยู่ในโซนแพง 24 และ 19 เท่า คาดว่าจะกลับไป 14-15 เท่าในปี 66 ส่วนเป้าหมายดัชนีในปีนี้ให้ไว้ที่ 1,340 จุด เพิ่มขึ้นอีก 4%
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศกลับไปใช้เกณฑ์ปกติ “ชอร์ตเซล” ใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero Plus Tick) และราคาหุ้นขึ้นสูงสุด(ซิลลิ่ง) และลดลงต่ำสุด (ฟลอร์ ) 30% รวมถึงตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะกลับไปใช้กติกาปกติ แต่ในช่วงนี้อาจจะไม่เหมาะกับภาวะตลาดหุ้นที่อ่อนแอ จากปัจจัยลบมากมาย อาจจะมีนักลงทุน โดยเฉพาะรายใหญ่ถือโอกาสทำกำไรจากการชอร์ตเซล ขายล่วงหน้าออกมาในราคาเท่ากับตลาด กดให้หุ้นขาลง ก่อนซื้อกลับ มีส่วนทำให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลง