ถล่มยับหุ้นบิวตี้ต่ำสุด 30% เทรดกว่าหมื่นล้าน หลัง”สุวิน” เปิดบริษัทให้ซักถามทุกประเด็นร่วม 2 ชั่วโมง โต้ทุกข่าวลือ ยันไม่ซื้อหุ้นคืน ครอบครัวไกรบูเบศถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20% ยืนเป้ารายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 4,290 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 20% งัดกลยุทธ์ ลดไซด์สินค้าตั้งราคาใหม่ ขยับขาย “เซเว่นฯ” นักวิเคราะห์เล็งปรับลดเป้ากำไร
นพ.สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) เปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์และนักข่าวซักถามทุกประเด็น โดยเฉพาะข่าวลือต่างๆ โดยยืนยันว่าไม่มีออเดอร์ปลอม สินค้าผลิตได้มาตรฐาน และไม่ซื้อหุ้นคืน โดยครอบครัวไกรบูเบศถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20%
“ผมมีความตั้งใจจะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของผมและครอบครัวไม่ต่ำกว่า 20% และไม่มีนโยบายจะขาย วันนี้ผมยังทำงาน กำหนดนโยบาย บางครั้งนอนไม่หลับ เพราะคิดกังวลถึงผลประกอบการของบริษัท ส่วนข่าวที่ออกมาว่าผมป่วยหนัก ผมอยากจะกระโดดตีลังกาให้ดูด้วยซ้ำ ผมยังแข็งแรงดี ยังเตะปี๊บดัง”นพ.สุวินกล่าว
ส่วนกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทซีพี ออลล์ (CPALL) เพื่อนำสินค้าเครื่องสำอางของบิวตี้ไว้วางขายในร้านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น( 7-11) ที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นสาขา จากปัจจุบันที่วางขายอยู่แล้วใน 650 สาขา ทั้งนี้ CPALL ให้บิวตี้ปรับขนาดสินค้าและราคาให้เหมาะสมกับตลาดคอนซูเมอร์ ในเดือนส.ค.นี้ จะทดลองนำสินค้าของบิวตี้เข้าไปวางขาย และคาดว่าจะส่งสินค้าเข้าไปขายอย่างจริงจังได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ตอนนี้คงประเมินไม่ได้ว่าจะมีสินค้าใหม่ๆ ไปวางขายกี่ไอเทม แต่แน่นอนว่าหากขายผ่านร้าน 7-11 ที่มีกว่า 1 หมื่นสาขาได้ จะสร้างยอดขายได้อย่างมีนัยสำคัญ
นพ.สุวิน ระบุว่า ปัจจุบันยอดขาย 70% ของบิวตี้มาจาก Shop Brand ที่มีอยู่ 348 สาขา แบ่งเป็น BEAUTY BUFFET จำนวน 265 สาขา BEAUTY COTTAGE จำนวน 75 และสาขา BEAUTY MARKET จำนวน 8 สาขา ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้บิวตี้มีแผนเพิ่มร้าน Shop Brand อีก 20 สาขา ขณะที่ยอดขายอีก 13% มาจากร้านค้าโมเดิร์นเทรด เช่น ร้าน 7-11 จำนวน 650 สาขา ร้าน Boots จำนวน 145 สาขา และจุดขาย ณ คิง พาวเวอร์ 8 สาขา 22 จุด เป็นต้น
สำหรับยอดขายในต่างประเทศ คือ จีนและอีก 10 ประเทศในเอเชีย ปัจจุบันมีสัดส่วน 16% ของรายได้รวม และในช่วงครึ่งหลัง บิวตี้จะทำตลาดและขายสินค้าเพิ่มขึ้นผ่านตัวแทนจำหน่ายในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมถึงเขตตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ส่วนยอดขายอีก 2% ที่มาจากการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์สนั้น ทางบิวตี้มีตั้งเป้าเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางดังกล่าวเป็น 6% ของรายได้รวมภายใน 5 ปี
“บริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะเพิ่มยอดขายผ่านอีคอมเมิร์สเป็นสัดส่วน 6% ของรายได้รวม ซึ่งปีนี้บิวตี้ได้รุกเข้าไปทำตลาดการขายรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Cross-border E-commerce หรือการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สเพิ่มขึ้น โดยได้ร่วมมือกับ 5 เว็ปไซต์สำคัญของจีน คือ TMALL, KAOLA, VIP, YUNJI และ JD ขายสินค้าของบิวตี้ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าว่าการขายสินค้าผ่านทั้ง 5 แพลตฟอร์มจะสร้างรายได้ให้บิวตี้ 300 ล้านบาทในปีนี้” นพ.สุวินกล่าว
นพ.สุวิน กล่าวว่า บิวตี้มีแผนผลิตและขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ๆที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยบิวตี้มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 5-10% จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่ง 2-3% จากมูลค่าตลาดในปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท อีกทั้งบิวตี้ยังมีแผนขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3 รายการ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่ม
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ นพ.สุวิน กล่าวว่า อาจไม่เติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากกรณีข่าว “เมจิกสกิน” มีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้บริโภค ทำให้ผู้ซื้อรายย่อยและรายใหญ่ต่างชะลอการสั่งซื้อสินค้าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งข่าวที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังทำให้สินค้าเครื่องสำอางที่ส่งไปขายในจีน ซึ่งรวมถึงสินค้าของบิวตี้ ได้รับผลกระทบจากกระบวนการตรวจสอบการนำเข้าของจีน ทำให้การส่งสินค้าไปขายมีความล่าช้า
“ยอดขายในเดือนมิ.ย.กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง เรามั่นใจว่ายอดขายจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ไม่ต่ำกว่า 4,290 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 3,735 ล้านบาท แม้ไตรมาส 2 อาจสะดุดไปบ้าง ขณะที่เราจะรักษาเป้าหมายอัตรากำไรสุทธิให้ไม่ต่ำกว่า 20%”นพ.สุวินกล่าว
นพ.สุวิน ยังกล่าวถึงกรณีที่ทางการจีนตรวจสอบและกักสินค้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศที่หิ้วไปขายในจีนมากขึ้น เช่น เครื่องสำอางจากเกาหลีใต้ ว่า บิวตี้ทราบปัญหานี้ และเตรียมการรับมือไว้แล้ว โดยได้เริ่มขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ส 5 รายของจีนไปแล้ว ส่วนกรณีที่จีนตรวจสอบสินค้าเครื่องสำอางจากไทยมากขึ้น หลังจากมีข่าวเครื่องสำอางไม่ผ่านมาตรฐานอย.นั้น แม้จะมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าจะคลี่คลายในไม่ช้า
นพ.สุวิน ย้ำว่า บิวตี้ไม่เคยสร้างคำสั่งซื้อปลอมเพื่อสร้างยอดขายในต่างประเทศให้บริษัท โดยเฉพาะสินค้าที่ขายในจีนจะรับเป็นเงินสด 90% ต้องมีการวางเงินไว้ก่อน และมีการส่งออกสินค้าออกไปจริง ส่วนที่มีข่าวลือว่าตนเองนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปตั้งบริษัทเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบิวตี้ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ตนเองไม่มีบริษัทส่วนตัว และบิวตี้ก็ไม่มีบริษัทลูก นอกจากนี้ ตนเองและครอบครัวมีความตั้งใจที่จะถือหุ้นบิวตี้ไม่ต่ำกว่า20%
ส่วนราคาหุ้น BEAUTY ที่ลดลงกว่า 50% ในช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เดือดร้อนกับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตนเองมีหน้าที่สร้างผลงานให้บริษัทเติบโต มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของบริษัทมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย BEAUTY ยังคงเป็นทั้งหุ้นเติบโตสูงและหุ้นปันผล อย่างไรก็ตาม คงตอบไม่ได้ว่าราคาหุ้น BEAUTY ถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง ส่วนราคาหุ้นที่ลดลงมานั้น บริษัทและตนเองไม่มีแผนเข้าไปซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด
การเปิดแถลงข่าวของนพ.สุวิน เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 4 ก.ค. เกิดขึ้นหลังราคาหุ้น BEAUTY ลดลงต่อเนื่องจากที่เคยสูงสุด 23 บาท เนื่องจากมีข่าวลือต่างๆ ออกมา โดยนักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆกว่า 40 คน และสื่อมวลชนที่ร่วมฟังการชี้แจงครั้งนี้ สอบถามนพ.สุวินถึงข่าวลือที่เกิดขึ้น เช่น คุณภาพสินค้าบิวตี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับออเดอร์สินค้าจากจีน และสอบถามแนวโน้มผลประกอบการบริษัทในปีนี้ รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นคืนหลังราคาหุ้นลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการชี้แจง 2 ชั่วโมงเต็ม ราคาหุ้น BEAUTY ลดลง 17-19% จากราคาเปิด 12.90 บาท
ขณะที่ในช่วงบ่ายราคาหุ้นยังคงลดลงต่อเนื่อง และร่วงลงติดฟลอร์ และปิดที่ 9.10 บาท ลบ 3.90 บาท หรือลดลง 30% หลังจากมีบทวิเคราะห์ระบุว่า กำไรของ BEAUTY ปี 2561 จะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีกำไร 1,229 ล้านบาท และมีโอกาสปรับลดประมาณการลง การทรุดหนักของ BEAUTY ยังมีผลต่อเนื่องถึงหุ้นบริษัท ดู เดย์ ดรีม (DDD) ร่วงลงแรงในช่วงบ่าย และปิดที่ 51.75 บาท รูดลง 6.50 บาทหรือ 11.165 มูลค่าการซื้อขายร่วม 201 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้น DDD ปรับตัวลงต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ระดับ 53 บาท ซึ่งเพิ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา