HoonSmart.com>>”เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ CRC ประกาศเทกโอเวอร์ บริษัท ซีโอแอล (COL) โดยยอมจ่ายสูงถึง 12,160 ล้านบาท ในการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นทุกราย ในราคาหุ้นละ 19 บาท สูงกว่าในตลาด 15% เทียบกับราคาปิดที่ 16.40 บาท และเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เป็นบริษัทย่อยของ CRC เต็มตัว
การเข้าครอบงำกิจการครั้งนี้ บริษัทสามารถนำจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยี ในการบริหารธุรกิจ 3 ขา คือ OfficeMate – B2S- MEB Corporation ที่มีฐานลูกค้าองค์กรมากกว่า 5 แสนราย มาเสริมเขี้ยวเล็บให้ “เซ็นทรัล รีเทลฯ” ครองความเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format and Multi-category) ในประเทศไทย ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ Omni-channe เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันลงทุนในอิตาลีและเวียดนามเท่านั้น เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในระดับโลก
ที่สำคัญธุรกิจมีความแข็งแกร่งสามารถฝ่าคลื่นลมที่เข้ามากระทบได้ทุกสถานการณ์ หนุนให้กำไรเติบโตอย่างรวดเร็ว
CRC ใช้กลยุทธ์การเพิ่มขนาดใหญ่ ผ่านวิธีการครอบงำกิจการหรือเทคโอเวอร์กิจการอย่างชัดเจน เริ่มต้นจากบริษัท โรบินสัน (ROBINS) ตามด้วย การซื้อหุ้นบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท 49% จาก FamilyMart (JFM) ญี่ปุ่น ที่มีนโยบายถอนการลงทุนในประเทศไทย และตัวล่าสุดคือ COL ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบุคคลในครอบครัว”จิราธิวัฒน์”ลงทุนอยู่แล้วทั้งสิ้น
บริษัทเพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพ์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 เริ่มต้นด้วยการเทกโอเวอร์ บริษัท โรบินสัน โดยการนำหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 42 บาท ไปแลกกับหุ้น ROBINS ตีราคาที่ระดับ 66.50 บาท โดยมีผู้ตอบรับนำหุ้นมาเสนอขายประมาณ 784 ล้านหุ้น มูลค่าทั้งสิ้น 32,916 ล้านบาท
CRC ได้ประโยชน์จากการถือหุ้นทั้งหมดในโรบินสัน สามารถสร้างตลาดและกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจน ห้างโรบินสันเหมาะในทำเลที่มีประชากรอยู่ไม่หนาแน่นและผู้มีรายได้ปานกลาง จึงไม่แปลกใจที่ห้างเซ็นทรัล มีการปิดหรือเปลี่ยนชื่อเป็นโรบินสันอยู่หลายแห่ง เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการได้ตรงใจกับลูกค้ามากที่สุด
แต่ผู้ถือหุ้นโรบินสันฯอาจจะเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ หลังจากแลกมาด้วยต้นทุน 42 บาท แต่ราคาหุ้น CRC เคยขึ้นไปสูงสุดแตะ 42.25 บาทเพียงแวบเดียว ก่อนที่จะเจอวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไหลลงไปต่ำสุดที่ 20.70 บาท และเริ่มฟื้นขึ้นมาเหนือระดับ 30 บาทก่อนจะถอยลงตามภาวะตลาด
ล่าสุดวันที่ 15 ก.ย.ราคาหุ้นปิดที่ 28.25 บาท +1.75 บาท คิดเป็น 6.60% ปรับตัวขึ้นโดดเด่นเช่นเดียวกับ COL เพราะนักลงทุนคงเห็นผลดีของการซื้อกิจการครั้งนี้ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลฯ หมายปองมานานแล้ว นับตั้งแต่ทำธุรกิจชื่อ Office Depot ที่เก่งระบบหน้าร้าน แต่มีจุดอ่อนเรื่องระบบหลังบ้าน
COL เดิมชื่อ บริษัท ออฟฟิศเมท มี “วรวุฒิ อุ่นใจ” เป็นเจ้าของและเป็นซีอีโอ ก่อนที่กลุ่มจิราธิวัฒน์จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ผ่านบริษัท โฮลด์ โคลล์ (Hold COL)ที่มีนายทศ นายสุทธิลักษณ์ และนายพิชัย ถือหุ้น 18.40 % 14.58% และ 14.10 % รวม 47% นอกจากนี้ยังมีการลงทุนรายบุคคลอีกจำนวนมาก พร้อมเติมธุรกิจ “บีทูเอส-B2S” เข้ามาด้วย
ปัจจุบัน COL ทำธุรกิจ 3 ประเภทคือ 1. OfficeMate ธุรกิจค้าปลีกสินค้าที่ครบครันในประเภทอุปกรณ์สำนักงาน และให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในการประกอบธุรกิจ 2. คือ B2S ธุรกิจค้าปลีกหนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน ศิลปะ สื่อการเรียนรู้ สำหรับเด็กทุกช่วงวัย และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ และสุดท้าย MEB Corporation ธุรกิจการจัดจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และให้คำปรึกษาเรื่องการจัดทำ E-Book และการจัดหาอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader)
OfficeMate มีระบบ IT ที่แข็งแรง ใช้โมเดล catalog sales ซึ่งเป็นหัวใจของ e-commerce ในการบริหาร “สต๊อก” และ”ระบบโลจิสติกส์”ให้มีประสิทธิภาพสร้างอัตรากำไรสูง ธุรกิจสามารถเพิ่มยอดขายและกำไรได้ทุกสภาวะ จะเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยให้ CRC บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำค้าปลีกทั้งระบบออนไลน์ และออฟไลน์ได้ หลังจากได้หุ้นมาทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร บริษัทได้เซ็น MOU กับบริษัท โฮลด์ โคลล์ และ นายวรวุฒิ ขายหุ้นที่ถืออยู่จำนวน 225.70 ล้านหุ้น หรือ 35.72% และ 57.58 ล้านหุ้น หรือ 9% ตามลำดับ นอกจากนี้นายวรวุฒิยังหาผู้ถือหุ้นรายอื่นขายหุ้นอีก 12 ล้านหุ้น หรือ 1.87% รวมทั้งหมด 47 % ยังไม่รวมรายย่อยที่น่าจะนำหุ้นมาขายในราคา 19 บาท
การได้ธุรกิจแข็งแรงของ COL และหุ้นในระดับ P/E และ P/BV ต่ำกว่า CRC ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นในระยะยาว นักลงทุนจะต้องจับตาว่าจะจบดีลเทกโอเวอร์บริษัทใดอีก…