HoonSmart.com>>“สายการบินนกแอร์” ปรับแผนใหม่หวังปลดป้าย C เจรจาเจ้าหนี้หลายราย ลดค่าเช่า-ค่าซ่อมเครื่องบิน หวังเพิ่มกระแสเงินสด-ผลประกอบการ วางแผนระยะสั้นปรับปรุงเที่ยวบินต่อผู้โดยสารให้มีประสิทธิภาพ ระยะยาวจับมือพันธมิตรต่างประเทศ กระจายความเสี่ยง ทำแผนเพิ่มอัตรากำไร รวมค่าโดยสาร-ค่าอาหาร-ค่าน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง เน้นทำการตลาดขายของในเครื่องมากขึ้น ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการ รอศาลตัดสิน 27 ต.ค.นี้
นายธีรพล โชติชนาภิบาล ที่ปรึกษาบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยถึงแนวทางแก้ไขเพื่อให้บริษัทพ้นจากเหตุการขึ้นเครื่องหมาย C ว่า บริษัทมีการเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละราย เพื่อทำให้กระแสเงินสดจ่าย สอดคล้องกับกระแสเงินสดรับ โดยขอลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่า และค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน บริษัทฯ เจรจากับเจ้าหนี้หลายราย ให้เปลี่ยนรูปแบบเป็นใช้งานมากจ่ายมาก และใช้งานน้อยจ่ายน้อย บริษัทได้ทำสัญญาถึงสิ้นปี 2564 เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดและผลประกอบการ ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดประมาณ 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทมีการปรับปรุงแผนการตลาดในช่วงระยะสั้นถึงระยะยาวให้เหมาะสม โดยหลักจะพิจารณาการปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบิน และชนิดของฝูงการบิน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับผู้โดยสารและจำนวนเครื่องบิน โดยมีสัดส่วนการบินในประเทศประมาณ 80% ปัจจุบันมีเครื่องบินอยู่ 22 ลำ ประกอบด้วยเครื่อง คิว 400 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ ซึ่งเริ่มกลับมาดำเนินการบินได้แล้วประมาณ 70% เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ ซึ่งทุกเที่ยวบินมีกำไร ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังดีขึ้น ส่วนแผนรองรับเครือข่ายเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง
ทั้งนี้มีแผนการทำ Product mix to get better yield ต่อเที่ยวบินมากขึ้น ซึ่งจะรวมค่าโดยสาร ค่าอาหาร ค่าน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง รวมถึงมีแผนในการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการขายสินค้าบนเครื่องบิน เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้มากขึ้น
“เรามั่นใจว่าเราสามารถเดินหน้าต่อได้ เราไม่เชื่อว่าไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ที่สายการบินเผชิญอยู่จะยาวไปอีก 3-4 ปี หากสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่แบบนี้ไปอีก 4-5 เดือน เรามั่นใจว่าสามารถอยู่ต่อได้สบาย ถ้าเราทำตามแผนข้างต้นได้ ในระยะยาวยังสามารถเติบโตด้วย” นายธีรพล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับกรณีบริษัท NOK ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว และนัดไต่สวนว่าจะให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ในวันที่ 27 ต.ค.2563 บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดได้ จนกว่าจะเข้าฟังคำตัดสิน
ส่วนประเด็นเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) 7 สายการบิน ยื่นขอวงเงิน 24,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องการบินภายในประเทศ คาดหวังให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือในการค้ำประกัน เนื่องจากสภาวะปัจจุบันการที่สายการบินจะยื่นขอวงเงินจากธนาคาร ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก